จากกรณีที่ดาราสาว นุ๊ก-สุทธิดา ประกาศเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธ ไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดเสียงวิพาษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ล่าสุด พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียนในโลกออนไลน์ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘ศาสนาอะไรก็ได้’

 

11.jpg

โดยระบุว่า เห็นข่าวเรื่องที่ดาราหญิงคนหนึ่งเปลี่ยนศาสนา แล้วเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ทั้งในส่วนที่เห็นดีเห็นงามกับเธอ เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ใครจะนับถือหรือเปลี่ยนการนับถือในศาสนาอะไรก็ได้

ทั้งในส่วนที่ติติงและไม่เห็นด้วย เพราะกอ่นหน้าที่เธอจะเปลี่ยนศาสนา เธอเพิ่งโกนหัวเพื่อบวชชีไปหยกๆ นั่นจึงอาจทำใครหลายคนที่ชื่นชอบหรือติดตามเธออยู่ในฐานะของบุคคลสาธารณะเกิดความสงสัยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจที่จะเปลี่ยนศาสนาในครั้งนี้ และการเปลี่ยนศาสนาของเธอ เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วหรือ ?

ในทรรศนะส่วนตัวของอาตมา มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เรื่องการนับถือศาสนา หรือการเปลี่ยนการนับถือจากศาสนาหนึ่งไปอีกศาสนาหนึ่งนั้น ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล พูดอย่างชาวบ้าน ในรัฐธรรมนูญ (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตอนนี้ยังไม่มีนะ ยังร่างไม่เสร็จ นายกท่านกล่าวไว้)

เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกาย ของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการ ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความ สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

12

นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นเสรีภาพอันสมบูรณ์อย่างเดียวที่เรามีอยู่ เป็นสิ่งที่เราควรภาคภูมิใจที่สุดแล้ว สำหรับประเทศนี้ ที่ให้เสรีภาพอันสมบูรณ์ในการนับถือศาสนาแก่เรา แม้ว่าเสรีภาพอย่างอื่นของเราจะถูกริดรอนไปแล้วจนหมดสิ้นก็ตามที โดยเฉพาะก็สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง

กลับมาพูดถึงเรื่องของการนับถือศาสนา อาตมามองอย่างนี้ว่า เรื่องของการนับถือศาสนา เป็นเรื่องของความศรัทธา ที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อมั่น ในวิถีทางของแนวความคิดหรือคำสอน ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกในภายนอกของมนุษย์

ในยุคแรกแรกของการนับถือศาสนานั้น มนุษย์เรานับถือศาสนา จากการพิจารณาที่ว่า ศาสนานั้นนั้น มีวิถีทางหรือคำสอน ที่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของตนมากน้อย เพียงใด ศาสนานั้นนั้น มีมรรควิธีคือหนทางในการแก้ปัญหาของตน ได้ดีเยี่ยมแค่ไหน หรือศาสนานั้นนั้นให้คำตอบที่แก้ข้อสงสัยและกำจัดความกลัวของตนได้หรือเปล่า

อย่าลืมนะว่า ตอนที่พระพุทธเจ้าออกบวชใหม่ใหม่ พระองค์เองก็ทรงทดลองอยู่หลายลัทธิหลายศาสนา จนที่สุดท้ายหรอก จึงมาค้นพบวิธีในการกำจัดความทุกข์ ด้วยพระองค์เอง และหลังจากตรัสรู้แล้ว ก็ทรงชักนำให้คนในศาสนาอื่น หันมานับถือศาสนาพุทธตั้งเท่าไหร่

ดังนั้น การนับถือศาสนาในแต่ละยุคของมนุษย์ จึงไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน เราต้องเข้าใจว่า ศาสนาหรือลิทธิความเชื่อต่างๆ มีการเกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาที่มากขึ้น ศาสนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการนั้นด้วย

กับกรณีของโยมดาราท่านนี้ซึ่งเลือกที่จะเปลี่ยนศาสนาก็เหมือนกัน อาตมามองว่า เขาต้องมีเหตุผลส่วนตัวมากพอ และได้พิจารณาดีแล้ว เขาจึงเปลี่ยนศาสนา หรือไม่ก็ต้องการที่จะลองดำเนินชีวิตตามหลักการของศาสนาใหม่

33

ในเมื่อแนวทางของศาสนาเดิมที่เขาได้ลองปฏิบัติหรือนับถืออยู่ในปัจจุบันนี้ ขีดเส้นใต้คำว่า ปัจจุบันนี้ ไม่ได้ให้คำตอบที่ดีกว่าสำหรับเขา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่างที่บอกไปแล้วว่า เรื่องของการนับถือศาสนา เป็นเสรีภาพอันสมบูรณ์ของแต่ละบุคคล

ที่จริงเรื่องของการเปลี่ยนศาสนา มันไม่ได้เกิดเพราะเหตุผลของความเชื่อ หรือความศรัทธาที่แปลกใหม่อย่างเดียว มันมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย บางครั้งก็เกิดจากความจำเป็นหรือความชื่นชอบในสิ่งแปลกใหม่บางอย่าง นี่พบได้เป็นเรื่องปกติ

เช่น ผู้หญิงพุทธหลายคนได้สามีเป็นอิสลาม ก็ต้องไปเข้าเป็นอิสลาม ตามหลักของศาสนา หรือบางที ผู้หญิงพุทธชอบพิธีกรรมอย่างคริสต์ ก็หันไปถือคริสต์ เพื่อที่จะได้แต่งงานในโบสถ์ เป็นต้น

หรือมากไปกว่านั้น บางครั้งการตัดสินใจเปลี่ยนศาสนาก็เกิดขึ้นจากความเบื่อหน่ายในศาสนาเดิม เบื่อหน่ายคำสอนที่ถูกบิดพริ้ว ถูกบังคับให้เชื่อ หรือเป็นไปในทางกดขี่มากขึ้น เบื่อหน่ายพิธีกรรม เบื่อหน่ายนักบวชหรือตัวแทนของผู้แผยแผ่ศาสนา ที่ประพฤติตน ไม่ควรแก่การต้องเชื่อฟัง อีกต่อไป แบบนี้ก็มี

และนอกเหนือไปจากการเปลี่ยนศาสนาเลย บางคนที่ถือศาสนาอื่นโดยไม่เปลี่ยนศาสนาเดิมก็มี ที่เห็นได้ชัดก็คือ คนพุทธเราเดี๋ยวนี้ นับถือผี 90 เปอร์เซ็นต์ นับถือพราหมณ์ 80 เปอร์เซ็นต์ (คำนวนเองนะ) ในขณะที่บอกว่าตัวเองเป็นคนพุทธ แต่กลับ ไหว้เจ้า เข้าผี นับถือเทพอะไรไม่รู้ มัวไม่หมด พราหมณ์ก็ดีจะถือ ผีก็ดีจะไหว้

ดังนั้น เรื่องที่ดาราเปลี่ยนศาสนานี่ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพราะทุกวันนี้เราก็เปลี่ยนศาสนากันทุกวัน ถือศาสนากันมั่วอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

44

การจะนับถือศาสนาอะไรนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การปฏิบัติตนตามหลักของศาสนานั้นนั้นต่างหาก เป็นสิ่งที่ควรตระหนักให้มาก เช่น ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นพุทธ คุณมีความเข้าใจในหลักการของศีล ๕ แค่ไหน เป็นคริสต์ เข้าใจถึงหลักของบัญญัติ ๑๐ ประการหรือเปล่า

เป็นอิสลามคุณเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องหลักศรัทธา ๖ ประการอย่างไร คนเมื่อนับถือศาสนาใดแล้ว ต้องเข้าให้ถึงความดี ความจริง และความงามของศาสนานั้นนั้น ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องทั้งต่อเพื่อนร่วมศาสนาเดียวกัน และเพื่อนต่างศาสนาคนอื่น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีศาสนา มีศาสดาในหัวใจ อย่างแท้จริง

ไม่ใช่นับถือศาสนาเพียงแต่ในนาม หรือนับถือตามโคตรเง่าศักราช หลงติดอยู่ในความเลิอเลิศแต่ภายนอกของศาสนาตนเอง เห็นเพื่อนต่างศาสนา ไม่ใช่เพื่อนร่วมโลก ที่จะพึงได้รับการปฏิบัติที่ดีงามเหมือนกันกับตน แล้วปฏิบัติต่อพวกเขาซึ่งเป็นคนต่างศาสนา ด้วยความโหดเหี้ยมทารุณ หรืออยุติธรรม

อย่างไรก็ได้ ดังที่คนพุทธส่วนใหญ่ในประเทศทำกับคนอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือดังที่คนอิสลามส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำกับคนพุทธส่วนน้อยที่นั่น อย่างนี้จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีศาสนาได้อย่างไร

ศาสนาทุกศาสนาเกิดขึ้นมา เพื่อต้องการปลดปล่อยมนุษย์จากเครื่องพันธนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ศาสนามอบเสรีภาพมอบสันติภาพมอบภารดราภพให้กับมวลมนุษยชาติ ผ่านศาสดาของแต่ละศาสนา อยู่ที่ว่าคนซึ่งนับถือศาสนาจะเข้าถึงและเข้าใจในความประสงค์ของศาสดาของท่านมากน้อยเพียงใด เท่านั้นเอง

ที่มา ข่าวสด

เรื่องน่าสนใจ