ภาคเอกชนที่ผลิตน้ำประปาเพื่อส่งขาย เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด จะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ภาคธุรกิจ ในช่วงขาดแคลนน้ำ
รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ‘รีเวอร์ส ออสโมซีส‘ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญ ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
แต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทยมากนัก เนื่องจากมีต้นทุนสูง เพราะต้องใช้กำลังไฟฟ้าในการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าน้ำประปาทั่วไปถึง 3 เท่า ภาคธุรกิจจึงนิยมใช้เฉพาะในช่วงวิกฤตขาดแคลนน้ำเท่านั้น
กระบวนการในการเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด เริ่มจากการสูบน้ำทะเลมาเก็บในบ่อพักน้ำทะเล เมื่อต้องการใช้ให้ส่งเข้าสู่ระบบกรอง เพื่อแยกเกลือออกจากน้ำทะเล หลังจากนั้น จะมีการใส่คลอรีนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อฆ่าเชื้อโรค
โดยน้ำทะเล 1,000 ลิตร สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำจืดได้ประมาณ 400 ลิตร ส่วนอีก 600 ลิตร จะเป็นน้ำทะเลที่มีความเข้มข้น ที่มีเกลือมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า ซึ่งจะทิ้งผ่านท่อน้ำลงสู่พื้นทะเล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ