ที่มา: vcharkarn.com

ภาวะลำไส้รั่วซึม ความเสี่ยงจากพฤติกรรมการบริโภคของคนเมือง เพราะลําไส้ของมนุษย์เราก็เปรียบเทียบได้กับรากของต้นไม้ดีๆ นี่เอง เพราะรากของต้นไม้ที่ดี ก็จะดูดซึมสารอาหารดีๆ เข้าสู่ลําต้น และส่งผลให้ดอก ใบ ผล เจริญเติบโต งอกงาม ในทางตรงกันข้าม หากรากของต้นไม้นั้นเน่าแล้ว อย่าหวังที่จะได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงในระยะยาว

ลำไส้ของมนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน  ทำหน้าที่สำคัญในการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ที่เราบริโภคเข้าไปสู่ร่างกาย และยังทำหน้าที่ในการเป็นปราการแบ่งแยกสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายใน คัดกรองสารพิษ หรือ สารเคมีต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายของเราได้อีกด้วย เปรียบได้กับการเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ที่สนามบิน อาหารที่เรารับประทานผ่านทางปาก เปรียบได้เป็นเครื่องบิน ที่บินผ่านเข้าน่านฟ้าประเทศนั้นๆ แต่ผู้โดยสาร ในเครื่องจะเข้าประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสามารถผ่านการตรวจตราที่ต.ม.ได้หรือเปล่านั่นเอง แต่ถ้าลำไส้เกิดทำงานผิดพลาดไม่สามารถแยกแยะการดูดซึม หรือคัดกรองสารอาหารหรือสารพิษ ต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

ภาวะลำไส่รั่วซึม
ภาพจาก wscenters.com

ซึ่งเราเรียกภาวะความผิดปกติแบบนี้ว่า Leaky Gut syndrome จัดเป็นภาวะการทำงานที่ผิดปกติอย่างหนึ่งของลำไส้ (Functional change) ที่ยังไม่ได้จัดว่าเป็นโรค (Disease) แต่พบว่าก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง หรือเกิดความผิดปกติอื่นๆ ตามมาอีก หลายอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

สาเหตุเกิดจากอะไร?
เกิดจากการที่เซลของผนังลำไส้ เกิดการอักเสบของเซลล์ ทำให้เซลล์บวม ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารในภาวะปกติแย่ลง เจ้าตัวจึงอาจมีอาการขาดสารอาหารบางชนิดได้ เมื่อเซลล์บวมและอักเสบ ก็จะทำให้เกิดปัญหา แยกออกจากกัน จนเกิดเป็นช่องว่างจนสารพิษ หรือสารเคมีต่างๆ สามารถผ่านและเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายเราได้ ทำให้เกิดอาการของสารพิษตกค้างสะสมในเซลล์ ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายทำงานแปรปรวน เช่น มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย สมองมึนงง ฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น

ภาวะลำไส่รั่วซึม
ภาพจาก longevity.media

ผลเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมา
สารพิษ หรือสารเคมีที่เล็ดลอดเข้าไปในร่างกายเหล่านี้ อาจไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแปรปรวน เกิดเป็นผื่นแพ้ ผื่นไร้สาระ หรือ ผื่นแพ้เครื่องสำอางต่างๆ ทั้งๆ ที่เคยใช้เครื่องสำอางนั้นๆ อยู่เป็นประจำมาก่อน บางคนเกิด เป็นผื่น สิว เรื้อรัง ในวัยผู้ใหญ่ที่รักษาไม่หายขาด หรือแม้กระทั่งเกิดภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด ไปทำร้ายและทำลายตัวเอง กลายเป็นโรคในระบบภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Auto-immuned disorder) เช่น S.L.E. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้
มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้เซลล์ผนังลำไส้เกิดการอักเสบ บวม และเกิดภาวะลำไส้รั่วซึมได้ง่ายเช่น ความเครียด การอดนอน การขาดสารอาหาร การบริโภคสารน้ำตาลมากๆ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การทานยาปฏิชีวนะ หรือ ยาแก้ปวดแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs นานๆ ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเรา 

ภาวะลำไส่รั่วซึม

เหตุใดลำไส้จึงรั่ว?
หากจะมีสิ่งใดทำให้ลำไส้รั่วได้ คงหนีไม่พ้นเป็นสิ่งที่สัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำ นั่นก็คือ อาหารและยา ทั้งยังมีข้อมูลอีกว่า ความเครียด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเหมือนกันโดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลขัดขาว จะไปกระตุ้นให้เกิดยีสต์ในร่างกายมากกว่าปกติ กลายเป็นแหล่งชุมนุมยีสต์ ที่คอยก่อกวนผนังลำไส้จนรั่วได้ในที่สุด อีกหนึ่งสาเหตุที่มองข้ามไม่ได้อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ พฤติกรรมการบริโภคของหนุ่มสาวคนเมือง ที่สั่งแต่เมนูเดิมซ้ำๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ ร่างกายจะได้สารอาหารเดิมซ้ำซาก จนลำไส้ไม่ชินกับความหลากหลาย สารเคมีตกค้างในอาหารจานนั้น จะเข้าไปสะสมในลำไส้ตลอดเวลา เมื่อถึงจุดหนึ่ง จึงออกฤทธิ์ทำร้ายจนไส้รั่วได้เช่นกัน

ส่วนยาที่ทำร้ายลำไส้ คงหนีไม่พ้นจำพวกยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะทั้งหลาย ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย โดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อดีหรือเชื้อร้าย จนไม่มีแบคทีเรียตัวดีคอยรักษาสมดุล ลำไส้จึงอ่อนแอ และทำงานผิดปกติได้

ภาวะลำไส่รั่วซึม

สาเหตุหลักอีกอย่างคือความเครียด เมื่อเราเครียด สมองจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายทาง รวมทั้งการบีบตัวของลำไส้ด้วย อย่างที่เคยได้ยินกันว่าเครียดลงกระเพา ะหรือเครียดลงลำไส้นั่นเอง

แนวทางการรักษา
ภาวะนี้ ต้องตรวจการทำงานของลำไส้ในการดูดซึม โดยใช้การตรวจด้วยวิธี Lactulose-Mannitol test โดยจะให้คนไข้กลืนน้ำตาล 2 ชนิด ที่มีขนาดโมเลกุล ไม่เท่ากัน แล้วเก็บปัสสาวะของคนไข้ไปตรวจหาน้ำตาลชนิดนั้นๆ ภายหลังจากที่ดื่มน้ำตาลเข้าไปแล้ว หากตรวจเจอน้ำตาลชนิดนี้ ก็แสดงว่าต้องมีภาวะรั่วซึมของผนังลำไส้แน่นอน ส่วนน้ำตาล Mannitol เป็นน้ำตาลที่มีขนาดโมกุลเล็ก ซึ่งในภาวะลำไส้ปกติสามารถดูดซึมผ่านเข้าผนังลำไส้ และตรวจพบในปัสสาวะได้หลังจากดื่มเข้าไป แต่ในภาวะที่ลำไส้รั่วซึมทำให้มีการดูดซึมของลำไส้ลดลง เพราะเซลล์ที่อักเสบและบวม ทำให้ตรวจพบปริมาณน้ำตาลชนิดนี้ในปัสสาวะลดน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นการช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้ หลังจากนั้น แพทย์จะให้ลด หรือกำจัดต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วซึมต่างๆ และให้สารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหารให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เช่น กรดไฮโดรคลอริก น้ำย่อยชนิดต่างๆ สมุนไพรที่ช่วยการทำงานของลำไส้ หมั่นเสริมสร้างแบคทีเรียชนิดดี และอาหารของมัน เพื่อเป็นเสมือนทหารชั้นดี ที่คอยปกป้อง และป้องกันแนวกำแพงผนังลำไส้ ให้แข็งแรงอยู่เสมอ

………………………………………….

ในการรักษาด้วยวิธีการนี้ แพทย์ทางด้านศาสตร์ชะลอวัย จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดี หลายคนที่มัวแต่ใส่ใจแค่เพียงอวัยวะสำคัญๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต หรือผิวหนัง ฯลฯ โปรดอย่าลืมนะคะว่า ลำไส้เป็นอวัยวะซ่อนเร้นที่อาจถูกลืม แต่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เราจึงต้องดูแลเอาใส่ใจให้แข็งแรงด้วยเช่นเดียวกัน

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ