โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคที่ติดต่อกันจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่เชื้อจากชายไปสู่หญิง หรือหญิงไปสู่ชาย หรือจากชายไปสู่ชาย หญิงไปสู่หญิง เราจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มกามโรค ซึ่งมีอยู่ 6 โรค คือซิฟิลิส, หนองใน, หนองในเทียม, แผลริมอ่อน, กามโรคของท่อและต่อมน้ำเหลือง และ แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ และกลุ่มอื่นๆ ได้แก่พวกที่ไม่นับรวมในกามโรคอีกกว่า 20 โรค เช่น เริม, ไวรัสตับอักเสบบี และโรค เอดส์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญโรคหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยากที่จะควบคุมกําจัดกวาดล้างให้หมดไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาของประชาชนในแต่ละประเทศ
ซิฟิลิส เกิดจากเชื้อ Treponema Pallidum (ทรีโพนีมา พัลลิดุม) ซึ่งเป็น spirochete เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเกลียวบางๆ ประมาณ 8-14 เกลียว มีการเคลื่อนไหวเป็นแบบควงสว่าง เคลื่อนไปข้างหน้าและหักพับเป็นมุมเพื่อเปลี่ยนทิศทาง การแบ่งตัวเป็นแบบ binary fission ชอบความชื้นและตายง่ายในภาวะแห้ง มีความไวต่อสาร antiseptic หรือเพียงสบู่ธรรมดาก็ทําลายเชื้อได้ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสทางเพศเป็นส่วนใหญ่ สําหรับการติดเชื้อซึ่งเกิดจากการจูบหรือการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์ระหว่างทํางาน หรือการให้เลือดนั้นพบได้น้อย การผ่านเชื้อจากมารดาไปสู่ทารก มักเกิดในไตรมาสที่หนึ่งของการตั้งครรภ์ ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 9-90 วัน โดยเฉลี่ยคือ 2-4 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นชนิดที่เป็นแต่กําเนิด (Congenital syphilis) และชนิดที่เป็นภายหลัง (acquired syphilis)
ซิฟิลิสระยะแรก (Early syphilis)
ซิฟิลิสระยะแรก คือระยะเวลาของการติดเชื้อไม่เกิน 2 ปี ซึ่งแบ่งการดําเนินโรคออกเป็น ซิฟิลิสระยะที่ 1 (primary syphilis) ซิฟิลิสระยะที่ 2(secondary syphilis) และซิฟิลิสระยะแฝง ไม่เกิน 2 ปี (early latent syphilis)
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary syphilis)
ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะเกิดมีแผลที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (hard chancre) จะเกิดตรงบริเวณที่ได้รับเชื้อ ส่วนมากที่อวัยวะสืบพันธุ์ แต่อาจพบที่ทวารหนัก ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมทอนซิล นิ้ว ฯลฯ ตอนแรกจะเป็นตุ่มสีแดงคล้ำ แล้วแตกกลายเป็นแผลขนาด 0.5-1 ซม. มีขอบนูนสูง ขอบและพื้นแข็ง เวลาบีบจะรู้สึกแข็งเหมือนกระดุม ไม่เจ็บปวด มักเป็นแผลเดียว แต่ถ้าเป็นที่แคมเล็ก ก้อาจมีหลายแผลได้ ระยะที่เป็นแผลริมแข็ง อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ซึ่งมักเป็นข้างเดียว ลักษณะแข็งเหมือนยาง (Rubbery) กดไม่เจ็บและไม่แตกเป็นหนอง พบได้ 70-80% และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายจากน้ำเหลืองที่ซึมออกจากก้นแผล ซึ่งมีเชื้อซิฟิลิสอยู่มาก กินเวลาประมาณ 3-8 สัปดาห์ และจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาและไม่มีร่องรอยเหลือเป็นแผลเป็น แล้วเข้าสู่ระยะ secondary syphilis การตรวจเลือดอาจจะได้ผลบวกเพียงร้อยละ 70 ของผู้ป่วย
ซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis)
อาการเกิดภายหลังจากที่เป็นแผลซิฟิลิสระยะที่ 1 ประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่บางรายอาจนานเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้ ซิฟิลิสระยะที่ 2 เป็นระยะที่เชื้อกระจายไปตามกระแสเลือด ทําให้เกิดอาการแสดงได้หลายอย่าง ซึ่งมีอาการต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำๆ คล้ายไข้หวัด ต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนังแต่ไม่ค่อยเกิดบริเวณใบหน้า ลักษณะผื่นอาจเป็นแบบผื่นราบ ผื่นนูน หรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจนานเป็นเดือนและหายได้เอง บางรายอาจพบว่าผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรืออาจร่วงทั้งศีรษะ ขนตาและขนคิ้วก็อาจร่วงได้ นอกจากนี้ก็ยังมีอาการอื่นๆ ตามมาอีกมากมายเลยค่ะ เช่น โลหิตจาง ประจำเดือนมาผิดปกติ น้ำหนักตัวลด ตับอักเสบ เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นต้น
ซิฟิลิสระยะหลัง (Late syphilis)
ซิฟิลิสระยะหลัง คือระยะเวลาการติดเชื้อเกิน 2 ปี ซึ่งแบ่งการดําเนินโรคออกเป็น Late latent syphilis และ Tertiary syphilis ซึ่งประกอบด้วยอาการและอาการแสดงเนื่องจากปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิต้านทานของร่างกายในระบบต่างๆ เช่น neurosyphilis, cardiovascular syphilis, gumma ผู้ป่วยอาจมาด้วยการแสดงที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ Benign tertiary syphilis (มักเกิดภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-10 ปี) Cardiovascular syphilis (มักเกิดภายหลังได้รับเชื้อ 10-40 ปี) และ Neurosyphilis (มักเกิดภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-12 ปี)
นับว่าซิฟิลิส เป็นโรคที่ร้ายแรงมากๆ เลยทีเดียว มีอัตราผู้ติดเชื้อซิฟิลิส 12 ล้านคนทั่วโลก โดย 2 ใน 3 เป็นผู้ติดเชื้อในทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในสหรัฐอเมริกา รายงานจาก CDC พบว่า ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักร่วมเพศ ในปี ค.ศ. 2000-2015 มีอัตราการติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 เพิ่มขึ้นจาก 2.1 รายต่อแสนประชากร เป็น 40 รายต่อแสนประชากรเเล้ว การป้องกันตนเองจากโรคซิฟิลิส จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างระมัดระวัง และการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคนี้ได้ค่ะ