ภาวะแพ้อาหารแฝง ที่แตกต่างจากการแพ้อาหารจริงอย่างสิ้นเชิง! ใครเลยจะคิดว่า อาหารที่เราทานเป็นปกติอยู่ทุกวันนี้ โดยมุ่งหวังที่จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ก็ยังแทบจะได้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไรแล้ว แถมยังมีมลพิษ มลภาวะ สารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนเข้ามาอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังอาจจะก่อให้เกิดการกระตุ้นภาวะภูมิคุ้มกันของเรา ซึ่งนํามาสู่ปัญหาของสุขภาพอีกหลายอย่างที่คาดไม่ถึงอีกด้วย
พูดถึงภาวะแพ้อาหาร หลายคนอาจจะเข้าใจภาวะนี้ในความหมายของภาวะแพ้อาหารโดยทั่วไป ที่บริโภคหรือสัมผัสสารที่แพ้แล้วเกิดผื่น บวม คัน เป็นลมพิษ หรือหอบหืด ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้ เกิดจากเม็ดเลือดขาวของเรา ที่ทําหน้าที่คล้ายทหาร คือคอยตรวจตราสอดส่องดูแล ว่าใครเป็นสิ่งแปลกปลอม ข้าศึก ผู้ร้ายศัตรู แล้วทําการขจัดทําลาย ซึ่งปกติ ก็เป็นพวกเชื้อโรคซะเป็นส่วนใหญ่
แต่ในกรณีนี้ เม็ดเลือดขาวกลับมองอาหารที่เราทานเข้าไปว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน โดยเม็ดเลือดขาวมักจะตอบสนองโดยการสร้างสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นสารกลุ่มโปรตีนที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน (ตัวย่อคือ Ig) ซึ่งมีหลากหลายชนิด และมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป เช่น lg A, lg G, lg E, lg S, lg M (หากเปรียบเทียบเจ้าอิมมูโนโกลบูลินนี้ เหมือนเป็นอาวุธของทหาร ก็มีอาวุธที่หลากหลายนั่นเอง เช่น ปืน ธนู มีด ดาบ ระเบิด เป็นต้น และแสนยานุภาพของอาวุธแต่ละชนิด ก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน)
เป็นปฏิกิริยาแพ้อาหารที่หลายคนคุ้นเคย เช่น คนที่แพ้กุ้ง พอกินแล้วเป็นผื่น ลมพิษ ปากบวมเจ่อ การแพ้แบบนี้ เกิดจากปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาว ที่มีต่ออาหาร แล้วหลั่งสารอิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (IgE) ซึ่งจะทําให้ร่างกายเกิดการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) อีกต่อหนึ่ง เจ้าสารฮิสตามีนนี้เอง ที่มีผลทําให้หลอดเลือดขยาย น้ำจากหลอดเลือดจะรั่วซึมออกมา ทําให้เกิดอาการเป็นผื่นบวมน้ำ นูน แดง คัน (เรียกว่าลมพิษ) หรือมีอาการจาม หลอดลมตีบ หอบหืด เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากสัมผัสหรือทานสารที่แพ้นั้นได้ไม่นาน (โดยปกติจะเกิดขึ้นภายใน 1-12 ชั่วโมง)
อาการแพ้ลักษณะนี้ สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแอนติฮิสตามิน หรือยาแก้แพ้ที่หลายคนคุ้นเคยนั่นเอง เนื่องจากอาการจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดทุกครั้งที่ทานอาหารชนิดนั้นเข้าไป และจํานวนสารที่แพ้ส่วนใหญ่ ก็มีไม่กี่รายการ เจ้าตัวจึงมักจะรู้ว่าตัวเองแพ้อะไร ก็มักจะเลี่ยงที่จะไม่ทาน
บางครั้ง สารที่แพ้อาจจะไม่ได้เกิดจากอาหาร แต่เป็นการแพ้สารชนิดอื่น เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ตัวไรในฝุ่น สารเคมี สารระเหย หลายคนที่ไม่ทันสังเกตว่าสารชนิดใดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ของตัวเอง ก็อาจจะต้องใช้วิธีตรวจสอบทางผิวหนัง โดยนํากลุ่มของสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องสงสัยหลากหลายชนิด มาแปะบนผิวหนังของเรา แล้วสังเกตอาการผื่นแพ้ บวมนูน แดงคัน ที่เกิดขึ้นรอบๆ ก็จะได้เป็นแนวทางในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น เพราะการแพ้แบบนี้ มักไม่ค่อยหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่ การรักษาที่สําคัญก็คือต้องหลีกเลี่ยงสารที่แพ้เท่านั้น และการใช้ยาแก้แพ้ ก็เป็นแค่เพียงการรักษาเพื่อบรรเทาอาการค่ะ
การแพ้อาหารแฝงนั้น แตกต่างจากการแพ้อาหารจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เกิดจากอิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (Immunoglobulin G: lg G) ซึ่งสารแอนติบอดี้นี้ ไม่ทําให้เกิดการหลั่งสารฮิสตามินเหมือน Ig E จึงทําให้ไม่เห็นปฏิกิริยาของผื่นลมพิษที่ผิวหนัง หรือเกิดอาการทางเยื่อบุปาก หรือทางเดิน หายใจบวม บางคนก็เลยไม่ถือว่าปฏิกิริยานี้เป็นการแพ้
ดังนั้น เมื่อไม่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจน หลายคนจึงไม่ทราบว่าเจ้าตัวแพ้อาหารชนิดนั้นๆ เมื่อบริโภคเข้าไป เม็ดเลือดขาวก็ทําการสู้รบกับอาหารเหล่านั้นในลําไส้อย่างเงียบๆ อาการที่แสดงให้เห็นทางระบบทางเดินอาหาร อาจไม่มากหรือเด่นชัดเท่าไรนัก เช่น ท้องอืด จุกเสียด มีลมในท้องเยอะ ท้องผูก หรือท้องเสียก็ไม่ชัดเจน แต่จะแสดงออกทางระบบอื่นๆ ได้มากมาย เช่น เหนื่อย อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ มึนงง ความจําไม่ดี สมาธิสั้น และภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยรวม ก็จะทํางานแย่ลงไป
เราอาจจะมีผื่นแพ้ที่ผิวหนังแบบไม่รู้สาเหตุ แพ้นู่นนี่นั่น ไร้สาระเรื่อยเปื่อย แม้แต่เครื่องสําอางที่ใช้ประจําสม่ำเสมอมาตั้งนาน ก็มีปฏิกิริยาแพ้ไปกับเขาด้วย บางคนก็เป็นสิวเรื้อรังไม่หายขาด แม้จะเลยวัยรุ่นไปจนหมดประจําเดือนแล้ว ก็ยังมีสิว และมักจะรักษาหายยาก หรือบางคนก็มีอาการของโรคผิวหนังอักเสบ คล้ายรังแค (Seborrhiec Dermatitis) บางคนก็มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไปทําลายตนเอง กลายเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น เอสแอลอี (S.L.E.) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (R.A.) สะเก็ดเงิน (Psoariasis) เป็นต้น และนอกจากนี้ ยังพบว่าภาวะนี้ยังเกี่ยวข้องกับความอ้วนเรื้อรังโดยไม่รู้สาเหตุอีกด้วย
สาเหตุหนึ่งที่ทําให้เรามักไม่ทราบว่าแพ้อาหารชนิดใด เป็นเพราะภายหลังจากที่บริโภคอาหารชนิดนั้นๆ ไป กว่าที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่ออาหารชนิดนั้นๆ และ ปรากฏอาการให้เห็น อาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 24-72 ชั่วโมง (คือเกือบ 1-3 วันเลยทีเดียว) ดังนั้น หากมีอาการที่ทําให้เราสงสัยว่าน่าจะเกิดจากภาวะแพ้อาหารแฝง อาหารที่เป็นผู้ต้องหาที่น่าจะเป็นสาเหตุ ก็เป็นได้ตั้งแต่อาหารที่เราทานเข้าไปในวันนี้ ย้อนหลังไปจนถึงเมื่อวานซืนเลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ ก็มักจะจําไม่ได้ แถมอาหารที่แพ้ในลักษณะนี้ ก็มักจะมีมากมายหลายชนิด และเรามักจะชอบทานอาหารชนิดนั้นๆ เป็นประจําโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ทําให้ไม่ง่ายนัก ที่จะทราบว่าอาหารชนิดใดเป็นสาเหตุ
การทดสอบการแพ้ โดยวิธีทดสอบทางผิวหนังแบบทั่วๆ ไป ไม่สามารถตรวจสอบภาวะแพ้แบบนี้ได้ ต้องทําการทดสอบโดยวิธีการเฉพาะ ที่เอาเลือดของเราไปตรวจสอบกับสารอาหารหลากหลายชนิด แล้วดูปฏิกิริยาที่เม็ดเลือดขาวมีต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่นําพาไปสู่การรักษาได้ เพราะการแพ้อาหาร แบบนี้ เพียงแต่งดบริโภคอาหารที่แพ้เหล่านั้นไปซักระยะหนึ่ง (ประมาณ 1-6 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงของอาหารชนิดนั้นๆ) ก็จะสามารถกลับมาบริโภคใหม่ได้ โดยจะไม่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเลย
แต่อาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะแพ้อาหารแฝงนั้น มักจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ภายหลังจากที่เรางด หรือหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิด ที่ตนเองแพ้อย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์เท่านั้น เช่น ผิวหนังมีคุณภาพดีขึ้น สิวยุบลง น้ำหนักตัวลดลง และหากเราบริโภคอาหารที่ตนเองแพ้แม้แต่ 1 รายการ หรือจํานวนเล็กน้อย อาการต่างๆ เหล่านี้ ก็จะแสดงให้เห็นกลับคืนมาทันที
…………………………………………………
ในปัจจุบัน เราพบว่าพฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิต ทําให้คนส่วนใหญ่มีภาวะแพ้อาหารแฝงเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอาการผิดปกติต่าง ๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บประหลาดๆ ที่มักจะหาสาเหตุไม่เจอ และการรักษา ก็เป็นไปตามอาการเท่านั้น แต่ในศาสตร์ชะลอวัย เราพบว่า เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาภาวะแพ้อาหารแฝงแล้ว กลับมีอาการต่างๆ เหล่านี้ดีขึ้น และพบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กันระหว่างภาวะนี้ กับสาเหตุของการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่อธิบายหรือหาสาเหตุไม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ
เนื้อหาโดย Dodeden.com