โครงการรถคันแรกที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทรถยนต์รวมถึงสร้างความสมหวังให้กับคนที่อยากได้รถใหม่ราคาไม่แพงอาจดูดีเกินความเป็นจริงจากนโยบายประชานิยมสุดกึ๋นของรัฐบาลชุดที่แล้ว หลังจากต้องหาเงินมาจ่ายให้กับคนที่ซื้อรถในโครงการนี้ถึงคันละหนึ่งแสนบาท เป็นเงินรัฐจำนวนไม่น้อยที่น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้หากโครงการที่เพิ่มจำนวนรถและเอื้อให้รถติดสาหัสสากรรจ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้น
หน่วยงานที่ต้องรับภาระหนักจากเงินที่หายไปก็คือกรมสรรพสามิต จากรายได้ภาษีรถยนต์ใหม่ที่เข้าโครงการรถคันแรกที่หายไป รวมถึงเงินที่รัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายคืนให้คนที่ซื้อรถในโครงการสุดแปลกประหลาดนั้นมากถึง 7 หมื่นล้านบาท จากสาเหตุที่รายได้ของกรมสรรพสามิตหดหายไปนี้ มีการคิดเพิ่มรายได้เพื่อคืนส่วนที่หายไปจากโครงการรถคันแรก นั่นก็คือการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 59 ภาษีรถยนต์ใหม่ครอบคลุมประเภทรถมากขึ้น จากเดิมโครงสร้างภาษีที่คิดจากขนาดเครื่องยนต์และแรงม้า ในส่วนของโครงสร้างใหม่จะคิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
โครงสร้างใหม่มุ่งเน้นไปที่สภาพแวดล้อมและการปล่อยมลพิษของรถยนต์ รัฐบาลมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบและพัฒนารถยนต์ที่มีการปล่อยไอเสียในระดับที่ต่ำลง เนื่องจากรถกลุ่มนี้จะเสียอัตราภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ปล่อยไอเสียมากๆ ทำให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคารถยนต์ให้ต่ำกว่าได้ แต่ก็ยังมีรถไฟฟ้านำเข้าที่ยังคงเสียภาษีแบบแปลกๆทั้งๆ ที่เป็นรถประหยัดพลังงาน
การใช้แนวคิดอนุรักษ์ลดการปล่อยแก๊ซคาร์บอนนำไปสู่ปริมาณการใช้รถยนต์กลุ่มประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม แต่โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ส่งผลร้ายต่อผู้ผลิตและลูกค้าที่ซื้อรถยนต์เครื่องใหญ่ความจุเยอะ ปล่อยมลพิษสูง เพราะรถยนต์กลุ่มนี้จะต้องเสียภาษีฯ ในอัตราที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้นตามภาษีใหม่
เหตุผลที่ต้องเก็บภาษีฯ รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ความจุเยอะแรงม้าสูงในอัตราที่สูงก็ด้วยหลักการ คนรวยซื้อของแพง เมื่อใช้รถที่กินเชื้อเพลิงแรงม้าสูงอัตราเร่งดี ปล่อยไอเสียมาก ก็ต้องมีภาระที่ต้องรับผิดชอบคืนสู่สังคมมากกว่า
สำหรับรถยนต์ราคาถูกที่มีเครื่องเล็กประหยัดน้ำมันแบบอีโคคาร์ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่จะสนับสนุนรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ อีโคคาร์ เฟส 2 อย่างชัดเจน เพราะเป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยไอเสียต่ำ โดยจะเสียภาษีเพียงร้อย 14 จากเดิมเสียภาษีร้อยละ 17 โดยรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง ซูซูกิ เซียส รุ่นท็อปที่มีราคา 625,000 บาท หากซื้อในปีหน้าราคาจะลดลงเหลือ 611,000-616,000 บาท
ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ 1,780-2,000 ซีซี จะเสียภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-10 อย่างเช่นฮอนด้า ซีวิค อัตราเดิมเสียร้อยละ 22 อัตราใหม่รุ่นที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตรจะเสียเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ปีหน้าสำหรับรถรุ่นท็อป ราคาจะเพิ่มจาก 898,000 บาท เป็น 928,000-943,000 บาท
รถเอสยูวีที่ มาสด้า ซีเอ็กซ์-5 ซึ่งถูกคิดภาษีอยู่ที่ร้อยละ 25 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 เนื่องจากรถระดับนี้ยังคงปล่อยไอเสียในพิกัด 151-200 กรัมต่อกิโลเมตรอยู่ ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นคันละ 60,000 บาทรถปิกอัพส่วนใหญ่มีค่าไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็นร้อยละ 15 รุ่น 4 ประตู ซึ่งรถกระบะยอดฮิตอย่าง อีซูซุ ดี-แมคซ์ ในปีหน้าจะมีราคา 734,000-744,000 บาท หรือแพงขึ้นคันละ 15,000-25,000 บาท
ส่วนรถกระบะดัดแปลง หรือ พีพีวี ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 3,250 ซีซี จากเดิมเสียภาษีร้อยละ 20 ทุกรุ่น ในอัตราใหม่จะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 แต่รถที่ปล่อยไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตรจะเสียภาษีร้อยละ 30 จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ ยังมีค่าไอเสียเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร ดังนั้น ปีหน้ารถพีพีวี จะเสียภาษีแพงขึ้นอีกร้อยละ 10 แทบทุกรุ่น ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ ราคาขายคันละ 1,599,000 บาท จะจ่ายเพิ่มเป็นคันละ 1,679,000-1,719,000 บาท
รายอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2559 แบ่งประเภทเป็น 8 กลุ่มรถยนต์ ตามปริมาณการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์
1. รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 40% (เดิมจัดเก็บภาษี 30%)
2. รถยนต์นั่งประเภทอี 85 และรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30% (เดิมจัดเก็บภาษี 25%)
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 35% (เดิมจัดเก็บภาษี 30%)
3. รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 10%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 10%
– ปล่อยก๊าซเกิน 100-150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 20%
– ปล่อยก๊าซเกิน 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%
4. รถยนต์ Eco Car (เดิมจัดเก็บภาษี 17%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร และใช้น้ำมัน E85 ได้ จัดเก็บภาษี 12%
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 14%
– ปล่อยก๊าซเกิน 100-120 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 17%
5. รถยนต์กระบะที่ไม่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 3%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 3%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%
6. รถยนต์กระบะที่มีพื้นใส่สัมภาระด้านหลังคนขับ มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 3%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 5%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 7%
7. รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิลแค็ป) มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 12%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 12%
– ปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 15%
8. รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซีซี (เดิมจัดเก็บภาษี 20%)
– ปล่อยก๊าซไม่เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 25%
– ปล่อยก๊าซฯ เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บภาษี 30%