มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับ มีแตกต่าง และเกี่ยวข้องกันอย่างไร? เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยกัน ซึ่งมะเร็งของตับ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือมะเร็งของเซลล์ตับ เรียกว่ามะเร็งตับ และมะเร็งของเซลล์เยื่อบุทางเดินน้ำดี เรียกว่า มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งที่ตับอาจจะเป็นมะเร็งของเซลล์ตับเอง และมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่น
มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี พบเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้ชายไทย และเป็นอันดับที่ 3 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย รองมาจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม สําหรับที่จังหวัดเชียงใหม่ มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับ 6 ของมะเร็งในผู้หญิง มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่รุนแรง เพราะเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตจากมะเร็งของคนไทย
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง คือผู้ป่วยที่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือด และผู้ป่วยที่เป็นพาหะ โดยที่ไม่หายนั้นทมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ 223 เท่า ส่วนใหญ่มักมาหาแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังตรวจพบ หากตรวจพบก่อนในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้ หายขาดได้
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ผู้ป่วยที่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือด และผู้ป่วยที่เป็นพาหะ ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ของท้อง และตรวจหาสารโปรตีนมะเร็งตับ (AFP) ในเลือด ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหามะเร็งตับระยะเริ่มแรก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ
การเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ในตับจากการทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนโตรซามีน) มะเร็งตับพบได้บอยในคนที่มีภาวะตับแข็ง โดยร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งตับ จะมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย และร้อยละ 3-5 ของคนที่มีภาวะตับแข็ง โดยเฉพาะจากไวรัสตับอักเสบ จะเป็นมะเร็งตับ ความเสี่ยงนี้จะสูงขึ้นตามความรุนแรงของภาวะตับแข็ง อาจกล่าวได้ว่าภาวะตับแข็งเป็นระยะก่อนมะเร็งของมะเร็งตับ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของมะเร็งตับได้แก่ การดื่มสุรา แอลกอฮอล์ ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่คนที่ดื่มสุรามากเป็นประจํา จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้ โดยเฉพาะถ้าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีรวมด้วย สารอะฟลาทอกซิน เป็นสารก่อมะเร็งที่ผลิตมาจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในพืช และอาหารบางชนิดที่ขึ้นรา เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด เมล็ดธัญพืช พริกหอม กระเทียม ฯลฯ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น
อาการของมะเร็งตับ
ในระยะเริ่มแรกของมะเร็งตับจะไม่มีอาการ หรือถ้ามีก็น้อยมาก จนไม่ผิดสังเกต อาการส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งก้อนมีขนาดใหญ่ หรือลุกลามไปแล้ว จึงจะมีอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา อาการปวดอาจจะเล็กน้อย เช่น ปวดแบบจุกแน่น จนถึงขั้นปวดรุนแรง อาการปวดอาจร้าวไปด้านหลัง หรือหัวไหล่ได้ อาจจะปวดเป็นพักๆ หรือปวดตลอดเวลาก็ได้ อาการปวดอาจสัมพันธ์กับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ อาจจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องมีก้อนใต้ชายโครงขวาหรือบริเวณลิ้นปี่ อาจมีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องมานน้ำ
เนื่องจากอาการของมะเร็งตับ ไม่จําเพาะเจาะจง ดังนั้น ถ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ เช่น เป็นโรคตับแข็ง เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรมาปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวบวม หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อการวินิจฉัยโรคใน ระยะเริ่มต้นซึ่งมีโอกาสรักษาได้
การป้องกันมะเร็งตับ ทําได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ หลีกเลี่ยงสาเหตุของภาวะตับแข็ง เช่น การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งตับจากสาเหตุดังกล่าวได้
การตรวจคัดกรอง ได้แก่ การตรวจการทํางานของเอนไซม์ตับ การตรวจหาสารที่สร้างจากเซลล์มะเร็งตับ เช่น อัลฟาฟโตโปรตีน หรือสารเอเอฟพี (alpha fetoprotein, AFP) การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ และการฉีดสารทึบรังสี สําหรับการตรวจยืนยันการวินิจฉัย แพทย์อาจจะทําการตรวจชิ้นเนื้อตับ โดยใช้เข็มเจาะดูดผ่านทางผนังหน้าท้องใต้ชายโครงขวา
การรักษามะเร็งตับมีหลายวิธี ขึ้นกับระยะของมะเร็งและสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบําบัด การฉีดยาเคมีบําบัดผ่านทางเส้นเลือดแดงของตับ การฉีดสารอุดกั้นเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับ เพื่อให้ก้อนมะเร็งขาดเลือด และยุบลง ถ้ามะเร็งลุกลามมาก จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยาแก้ปวด
…………………………………………………….
ถ้าเป็นมะเร็งตับระยะเริ่มแรก มีเพียงก้อนเดียวและสามารถผ่าตัดออกได้หมดจะมี การพยากรณ์โรคดี ถ้าเป็นระยะลุกลามมาก มีโรคตับแข็งร่วมด้วย หรือมีโรคทางอายุรกรรม รวมด้วย ผลการรักษาจะไม่ค่อยดี
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่