เนื้อหาโดย Dodeden.com
ในอดีตที่ผ่านมา พบว่าโรคมะเร็งเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีผู้ป่วยเป็นจํานวนมาก และมีอัตราการเกิดของโรคเพิ่มมากขึ้น จากสถิติสาเหตุการตายของคนไทยพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุหนึ่งของการตายสูงมาก โดยมีอัตราการตายเป็นอันดับที่ 1 ของสาเหตุการตาย ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งอาจเสียชีวิตจากการลุกลามทําลายเนื้อเยื่อปกติและอวัยวะที่สําคัญได้
โรคมะเร็งเกิดขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกาย และเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง แต่ในปัจจุบันโรคมะเร็ง สามารถรักษาให้หายขาดได้หากพบในระยะแรกเริ่ม และได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งโรคมะเร็งที่พบและเกิดขึ้นบ่อยกับคนไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
โรคมะเร็งเต้านม เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญอย่างหนึ่ง จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2538 มะเร็งเต้านมพบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของมะเร็งในไทย รองลงมาจากมะเร็งตับ และมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมยังไม่แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับการที่เซลล์ของเต้านมมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เซลล์มีขนาดใหญ่ขึ้น เซลล์มีลักษณะรูปร่างเปลี่ยนแปลง ซึ่งลักษณะของเซลล์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้ามีจํานวนมากจะเรียกว่า เนื้องอก ซึ่งเนื้องอกที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการวินิจฉัยการเกิดโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆในการพิจารณาผู้ป่วย เช่น อายุ ตําแหน่งของเนื้องอก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจรักษาเพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็ง เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม จึงยังไม่มีวิธีการที่จะป้องกันการเกิดโรคที่ได้ผล ดังนั้นการตรวจเพื่อให้พบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ในระยะที่เป็นน้อยที่สุด จะทําให้ผลของการวินิจฉัยและรักษาดีมาก การพยากรณ์โรคมะเร็งของผู้ป่วยจะมีความถูกต้องมากถ้าสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้้ำเหลืองที่รักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้นี้เป็นตัวบอกการพยากรณ์โรคที่แม่นยําที่สุดด้วยเช่นกัน
สาวๆ ที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความวิตกกังวลและซึมเศร้าสูง เนื่องจากกลัวเพราะเป็นโรคร้าย กลัวตาย ต้องสูญเสียเต้านม ซึ่งทําหน้าที่ผลิตน้ำนมเป็นบทบาทของมารดา และเป็นสัญญลักษณ์ทางเพศ มีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ และส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยและคู่รัก ทําให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป มีความรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ปฏิบัติกิจวัตรประจําวันเช่น เปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกวิตกกังวล และต้องการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เป็น กลัวว่าจะกลับมาเป็นซ้ำอีก การตรวจรักษาในขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหนในการรักษา เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนในโรคที่เป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นอย่างมาก
ความวิตกกังวลเป็นพื้นฐานของความเครียด อาจเกิดจากความกลัว ภาวะถูกคุกคามจากสิ่งภายนอก ทําให้ตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ความรู้สึกนี้ทําให้เกิดความหวาดหวั่น เครียด กระวนกระวายใจ โดยมีการตอบสนองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือการคาดการณ์ล่วงหน้า ส่วนความซึมเศร้านั้น เป็นผมเนื่องมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่ผิดปกติไป เป็นภาวะที่ทําให้ขาดความสุข จากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า ความซึมเศร้าเกิดจากความรู้สึกสองจิตสองใจ (ambivaliance) คือทั้งรักและเกลียดในสิ่งที่ตนต้องสูญเสียไป และเมื่อมีการสูญเสียสิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่สามารถตอบโต้ได้ ความรู้สึกโกรธแค้นในสิ่งที่สูญเสียจึงหันกลับเข้าหาตนเอง (introjection) เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมปฏิกิริยาการตอบสนองทั้งสองอย่างจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จากสาเหตุดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ กล้วโรค การรักษา เกิดการสูญเสีย มีชีวิตที่ไม่มั่นคงปลอดภัย เป็นต้น
การปรึกษาเชิงจิตวิทยา เป็นกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือ และกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างผู้ปรึกษาและตัวเราเองค่ะ เราจะเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจะเน้นที่กระบวนการเพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการยอมรับ มีความ อบอุ่นเป็นกันเอง ให้กําลังใจ จริงใจ เปิดโอกาสให้เราได้ระบายความรู้สึกที่แท้จริง ให้การดูแลประคับประคองเรา ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย และผลกระทบรอบข้างทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทําให้เราสามารถปรับตัวและดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ การตรวจเต้านมด้วยตนเองนับเป็นพฤติกรรมอนามัยที่สําคัญที่สาวๆ ควรปฏิบัติ เพื่อค้นหาโรคในระยะแรกที่ยังไม่มีอาการ ควรจะตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเดือนละครั้ง เพราะการพบมะเร็งเต้านมแต่ระยะแรก โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดสูงร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวค่ะ