ที่มา: finearts.go.th

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

การจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ และ / หรือพระเมรุ เป็น ราชประเพณี ที่แฝงคติความเชื่อแบบพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพซึ่งสถิตบน เขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษย์โลกเป็นสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม

ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุปรากฏในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาล มีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์ ความคิดนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์ เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยวิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบัน คือ
ท้องสนามหลวง

แนวคิดเรื่องไตรภูมิ เป็นระบบแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ –ฮินดู มาสู่พระพุทธศาสนา กล่าวถึงระบบภูมิจักรวาล ที่แฝงไปด้วยแนวคิด คติ ความเชื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีอิทธิพลอยู่มากในดินแดนอุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยรัฐโบราณ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศรีวิชัย ตามพรลิงค์ จามปา ขอม พม่า รามัญ และรัฐสยาม วัฒนธรรมความเชื่อในเรื่องนี้ เข้ามาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน มีอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง รวมไปถึงประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงถึงสามัญชน

แนวคิดเรื่องไตรภูมิ และภูมิจักรวาล ก่อให้เกิดการสรรค์สร้างสถาปัตยกรรมมากมาย ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนสถานเป็นส่วนใหญ่ และความเชื่อตามหลักไตรภูมินี่เองที่นำมาสู่การประกอบพิธีกรรมของไทย การนำศิลปะเชิงช่าง ผสานกับความประณีตของงานศิลปะก่อให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตั้งแต่การเกิด เช่น พิธีทำขวัญ โกนจุก จนถึงการตาย เช่น งานศพ เป็นต้น สถาปัตยกรรม โดยส่วนใหญ่มักมีอิทธิพลอยู่ในวัฒนธรรมราชสำนักหรือวัฒนธรรมหลวง มีการสรรค์สร้าง การสืบทอด การปฏิบัติ การปฏิรูป จนบางครั้งก็มีการสูญสลายไปตามยุคสมัย ตามกระแสของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ศิลปกรรมชิ้นเอกที่ได้รับการสืบทอดมาสู่ปัจจุบันนั่นคือ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพและพระบรมศพ เมื่อมีเจ้านายชั้นสูงของราชอาณาจักรได้เสด็จสู่สวรรคาลัย พระราชพิธีการส่งเสด็จมีขั้นตอนและระเบียบวิธีการมากมาย ไม่ว่ากระแสสังคมจะเปลี่ยนไป พระราชพิธีนี้ยังคงธำรงรักษารายละเอียดไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่สร้างขึ้น ซึ่งประกอบด้วยความคิดตามคตินิยม ศิลปกรรมแขนงต่างๆ ตลอดจนการรังสรรค์ออกแบบมาอย่างวิจิตรพิสดาร เหมาะสมกับฐานันดรแห่งเจ้านายพระองค์นั้น ๆ นั่นคือ “พระเมรุ” และ “พระเมรุมาศ” ซึ่งมีการถ่ายทอดแนวคิดตามระบบไตรภูมิวิทยาไว้อย่างสมบูรณ์

งานพระเมรุเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญซึ่งแสดง “ทิพภาวะ” และความเป็น “สมมติเทพ” ของพระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ดำรงสถานภาพเป็นสมมติเทพโดยตรง ดังนั้นงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และพิธีการที่เกี่ยวเนื่องดังกล่าวจึงมีความอลังการ และมีขั้นตอนที่ละเอียดและใช้เวลาในการจัดงานมากกว่างานศพของคนธรรมดาหลายเท่าตัว

และนี่คือ “14 ประติมากรรม ประดับตกแต่งพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งได้ยึดแนวคิดในการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งยังเป็นการออกแบบที่ยึดตามโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมุติเทพ ตามระบอบเทวนิยม

เรื่องน่าสนใจ