ที่มา: RAMA CHANNEL

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

huffingtonpost.co.uk

โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นความผิดปกติของสีผิวที่เกิดจากถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นเอง โดยมีอาการเป็นผื่นสีขาวน้ำนมขอบชัด ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะไม่พบเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) มักเริ่มเป็นในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีอาการก่อนอายุ 20 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีสุขภาพแข็งแรง

ปัจจุบัน ได้มีการรักษาผู้ป่วยโรคนี้หลายวิธี ซึ่งให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีอาการจําแนกตามลักษณะการกระจายของผื่น ในด่างขาวชนิดโฟคอล (Vitiligo Focal) พบมีรอยโรคด่างขาวอยู่ในบริเวณจํากัดของผิวหนัง ส่วนด่างขาวชนิดเซกเมนตอล (vitiligo segmental) ผื่นจะกระจายตามเส้นแนวของเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงผิวหนังบริเวณรอยโรค (Dermatome)

The Real Daytime

สําหรับด่างขาวชนิดวัลการิส (Vitiligo Vulgaris) เป็นลักษณะอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะมีการกระจายตามบริเวณของผิวหนังที่รับแรงกดทับ เช่น ข้อศอก หัวเข่า หรือข้อนิ้วมือ นอกจากนี้ ยังเกิดการกระจายของผื่นบริเวณรอบตา รอบปาก รอบทวารหนัก รอบปากช่องคลอด และบริเวณซอกข้อพับของร่างกาย ส่วนในด่างขาวชนิดยูนิเวอร์ชอล (Vitiligo Universalis) จะพบมีการกระจายของผื่นเกือบทั้งหมดของร่างกาย

สาเหตุของการเกิดโรค
มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดโรคได้แก่

  • ทฤษฎีออโตอิมมูน  (Autoimmune Theory)
    เนื่องจากพบว่าโรคด่างขาวมีความสัมพันธ์กับโรคออโตอิมมูนหลายโรค เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 และพบแอนติเมลาโนไซต์ออโตแอนติบอดี (Antimelanocyte Autoantibodies) ในผู้ป่วยบางราย 
  • ทฤษฎีประสาท (Neural Theory)
    เนื่องจากพบว่าบริเวณปลายประสาทในชั้นหนังแท้มีการหลั่งสาร ซึ่งทําอันตรายต่อเซลล์เมลาโนไซต์
  • ทฤษฎีทำลายตัวเอง (Self-destruct Theory)
    อธิบายการที่เซลล์เมลาโนไซต์มีการ
    สูญเสียกลไกในการป้องกันตัวเองตามธรรมชาติ
  • ทฤษฎีผสม (Composite Theory)
    ซึ่งเชื่อว่าการเกิดโรคด่างขาวอธิบายโดยหลายทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นรวมกัน

การรักษาโรคด่างขาวยังเป็นปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การรักษาที่นิยมใช้ในขณะนี้คือ การทานยาร่วมกับการฉายแสง และการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสติรอยด์ แต่เนื่องจากการใช้ยาทาคอร์ติโคสตีรอยด์เป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ผิวหนังบาง จะมีการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้มากกว่าเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ จึงมีการศึกษาเพื่อพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยมากกว่ายากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ได้แก่ ยาในกลุ่ม Calcineurin Inhibitor ซึ่งยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Cyclosporine , Tacrolimus และ Pimecrolimus

ถึงเเม้ว่าที่มาของโรคยังไม่ชัดเจน และการรักษาก็ยังคงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าหากเรายอมรับในสิ่งที่เราเป็นและภูมิใจกับมันเหมือนนางแบบสาวคนนี้ ชีวิตก็จะสดใสไม่มัวหมองแน่นอน คิดบวกเข้าไว้ค่ะ!

เรื่องน่าสนใจ