มาเจอกันอีกแล้ว! สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือ พระจันทร์ยิ้ม ที่คนไทยเพิ่งจะได้ชมกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คราวนี้มีให้ได้ชมกันอีกแล้วในระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2558
วันนี้เรามีข้อมูลความรู้ดีๆ จากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวปรากฏการณ์ครั้งนี้มาฝากกัน มาทำความรู้จัก 10 ข้อพระจันทร์ยิ้มกันเลยดีกว่า
1. ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือ พระจันทร์ยิ้ม เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายใบหน้าคนกำลังยิ้ม โดยดาวคู่ดังกล่าว ได้แก่ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี เมื่อมองจากโลก จะอยู่ห่างกัน 2 องศา ในระยะท้องฟ้า และจะมีดวงจันทร์เสี้ยว ขึ้น 3 ค่ำ อยู่ด้านล่างระหว่างดาวทั้งสองดวง และห่างกัน 2 องศา
2. สำหรับปีนี้ เราสามารถสังเกตเห็นดาวเคียงเดือนได้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 9-11 ตุลาคม 2558
3. โดยปกติ ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 เดือน ทุกๆ 2 ปีครึ่ง มีลักษณะเป็นดวงดาว 3 ดวง ซึ่งได้แก่ ดาวศุกร์ (ดาวประจำเมือง) ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ โคจรเข้ามาใกล้กัน โดยดวงจันทร์หงายอยู่ด้านล่างของดาวอีก 2 ดวง และอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงเวลาหัวค่ำ หรือเช้ามืด
4. วิธีดู สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆฝน ก็จะมีโอกาสมองเห็นได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย และถ้าใครอยากเห็นชัดๆ ใกล้ๆ ก็สามารถใช้กล้องดูดาว (กล้องโทรทรรศน์) หรือกล้องถ่ายรูปที่มีเลนส์เทเล ก็สามารถมองเห็นได้ใกล้ขึ้น
5. สำหรับดาวเคียงเดือนในวันที่ 9-11 ตุลาคมนี้ จะเกิดขึ้นช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก จะมองเห็นดวงจันทร์เสี้ยวบางๆ เคียงดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวพุธ อวดโฉมให้คนตื่นเช้าได้ชมกัน 3 วัน เต็มอิ่ม หากฟ้าใสเห็นชัดด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย
6. ลำดับดวงดาวที่จะสามารถมองเห็นได้ คือ ในวันที่ 9 ตุลาคม จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ถัดลงมาคือดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวพุธ ตามลำดับ ในวันที่ 10 ตุลาคม ดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดวงจันทร์เสี้ยว และส่งท้ายวันที่ 11 ตุลาคม ดาวพุธจะเคียงดวงจันทร์
7. ในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์จะสังเกตได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นสองวัตถุที่มีความสว่างที่สุดในท้องฟ้ายามค่ำคืน (ไม่นับดวงจันทร์) แต่ดาวพุธอาจสังเกตได้ยากเนื่องจากปรากฏสูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย และยังมีแสงสนธยารบกวน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย
8. เร็วๆ นี้ ในช่วงเดือนเดียวกัน จะมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมเกิดขึ้นอีก 2 ครั้งให้ได้ชม คือ ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2558 และ ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2558
9. สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม จะเป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนที่มาอยู่ใกล้กับพฤหัสบดีมากที่สุด ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
10. ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ นับเป็นช่วงใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้าเริ่มมีทัศนวิสัยที่เหมาะกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สำหรับประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาคจะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ได้หลายครั้ง ใครสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์บนท้องฟ้า ช่วงนี้จะมีให้เห็นได้ง่าย ก็ติดตามกันต่อไป