ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

มาอีกแล้วปรากฏการณ์บนฟากฟ้าดาราศาสตร์ รองผอ.สดร.ชวนคนไทยชม ‘ดาวเคราะห์ชุมนุม’ ดาวอังคารเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ห่างเพียงปลายนิ้วก้อย ช่วงเช้ามืดวันที่17-19ต.ค.นี้ เห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ…

EyWwB5WU57MYnKOuXocwHrQU8WpcfOHvfIc1VKSCVgRo3E9j0LPfq4

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2558 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชาวไทยชมปรากฏการณ์ ‘ดาวเคราะห์ชุมนุม’ในวันที่ 17-19 ตุลาคมนี้ โดยในวันดังกล่าว จะเห็นดาวอังคารเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ห่างเพียงปลายนิ้วก้อย ช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก ยังมีดาวศุกร์และดาวพุธปรากฏให้เห็นในตำแหน่งใกล้เคียงกันอีกด้วย หากฟ้าใสจะเห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย เป็นการชุมนุมของดาวเคราะห์หลายดวงบนท้องฟ้ายามใกล้รุ่ง

“การเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมครั้งนี้ ที่น่าสนใจคือดาวอังคารจะเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ระยะห่างปรากฏเชิงมุมท้องฟ้าเพียง 0.6 0.4 และ 0.5 องศา ตามลำดับ โดยเฉพาะวันที่ 18 ตุลาคม ดาวอังคารเคลื่อนที่มาอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดีมากที่สุด เพียง 0.4 องศาเท่านั้น การที่ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในครั้งนี้ ทางดาราศาสตร์เรียกว่า ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา ดังนั้น หากมองด้วยตา จะเห็นดาวทั้งสองห่างเพียงปลายนิ้วก้อยเท่านั้น” รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าว

ดร. ศรัณย์ กล่าวด้วยว่า ผู้สนใจสามารถชมความสวยงามของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.30 น. จนถึงรุ่งเช้า และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ นอกจากนี้ เช้าวันดังกล่าว ยังคงมองเห็นดาวศุกร์ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป และดาวพุธที่อยู่ถัดลงมาด้านล่างในทิศเดียวกันอีกด้วย.

เรื่องน่าสนใจ