ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 3 กรกฎาคม 2560 ) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิต เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
แถลงข่าว “พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560” ว่า ปัญหาการบริโภคยาสูบเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้ป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร โดยคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงถึงปีละกว่า 5 หมื่นคน
นอกจากนี้ กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ยังทำให้นักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเป็นผู้เสพติดไปตลอดชีวิต รวมทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคเสพติดยาสูบ ทำให้สูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการสูบบุหรี่สูงถึง 74,884 ล้านบาท
รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรร้ายของการติดบุหรี่อันเนื่องมาจากกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ที่หลากหลายขึ้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิของเยาวชนและสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
และที่สำคัญอีกประการคือ ประเทศไทยเข้าร่วมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FCTC) จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ และแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว
สำหรับ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่เดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 25 ปี สำหรับ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง
ดังนี้ 1.กำหนดห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ 3.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใน 4 กลุ่มสถานที่ ได้แก่ วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานพยาบาลและร้านขายยา สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
4.กำหนดห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ อาทิ พริตตี้ส่งเสริมการขายในงานคอนเสิร์ต 5.ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรม CSR อุปถัมภ์สนับสนุนบุคคล หรือองค์กร ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ 6.ห้ามตั้งวางโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือซองบุหรี่ ณ จุดขายปลีกที่ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนมองเห็น
7.ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน 8.เพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ 9.กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ดูแลให้ไม่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ เจ้าของสถานที่มีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท