เนื้อหาโดย Dodeden.com
เป็นอีกหนึ่งหนุ่มมากความสามารถที่มีดีกรีเป็นถึงอาจารย์อยู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยล่ะค่ะ สำหรับอาจารย์สมิทธิ์ นั้นเคยรับหน้าที่พิธีกรในการประกวด Mr.Gay World Thailand 2017 ที่ผ่านมา ขอบอกเลยว่าการทำหน้าที่ของเขาในวันนั้นทำได้ดีเยี่ยมจนเราประทับใจ อยากจะคว้าตัวเขามาสัมภาษณ์ถึงมุมมองความคิดเรื่องราวของกลุ่ม LGBT ว่าเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไร และวันนี้เราก็ได้รับเกียรตินั้น ไปทำความรู้จักและรับรู้เรื่องราวดีๆ จากเขาคนนี้กันดีกว่าค่ะ กับ “อาจารย์สมิทธิ์”
ช่างพิมพ์ป้ายทำตัวอักษร Tog ตกไปซะงั้น เพราะจริงๆ สโลแกนต้องเป็น
Together We Can ซึ่งแปลว่า ถ้าเราร่วมมือกัน เราจะสามารถทำได้ครับ
อยากให้ช่วยแนะนำประวัติของตัวเองคร่าวๆ ให้ทุกคนได้รู้จักกันหน่อยค่ะ ปัจจุบันทำอะไรอยู่คะ
“ก่อนอื่นก็ขอบอกชื่อล่ะกันครับ ผมสมิทธิ์ บุญชุติมา นะครับ เป็น อาจารย์อยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ ครับ พอบอกอย่างนี้ก็มักมีคนถามต่อว่า สอนวิชาอะไร อืมมม ก็หลายวิชาอะครับ สรุป รวมๆ ว่าสอนเกี่ยวกับการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ และก็การผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเดี่ยวนี้มันก็มักเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์เยอะอะครับ ก็เลยมีวิชาที่ต้องสอนการใช้คอมฯ ให้นิสิตด้วยครับ”
ในวันงานประกวด Mr.Gay World Thailand 2017 ทางเราเห็นว่า อาจารย์สมิทธิ์มีการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมาก อยากให้บอกมุมมองของตัวเองสักหน่อย ว่าภาษาอังกฤษนั้นมีความสำคัญต่อคนไทยในปัจจุบันนี้อย่างไรบ้างคะ?
“ขอขอบคุณนะครับที่คิดว่าผมใช้ภาษาอังกฤษดีมาก จริงๆ แล้วผมว่าผมก็ยังไม่พอใจในภาษาอังกฤษของผมนะครับ จริงๆ ยังอยากให้พูดได้เหมือนเจ้าของภาษาเลย สงสัยต้องไปเกิดใหม่เลย
ผมคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่สำคัญมากนะครับ เพราะสมัยนี้เวลาจะจ้างพนักงานใหม่ หรือจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งใคร นอกจากวิสัยทัศน์และทักษะการทำงานแล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ตัดสินก็คือ ความสามารถทางภาษาอังกฤษครับ”
อยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆ วัยเรียนในตอนนี้ เกี่ยวกับในเรื่องของความสำคัญของภาษาต่างประเทศเพื่อใช้ในการสื่อสารสักหน่อยค่ะ
“ถ้าบอกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองนะ เมื่อน้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แล้วนะครับ ก็ควรเริ่มเรียนภาษาที่สามด้วย เพราะจะทำให้เรามีความมั่นใจยิ่งขึ้น และก็มีโอกาสในชีวิตมากขึ้นด้วยครับ เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ที่เรียนจบปริญญาตรีก็สามารถฟังพูดภาษาอังกฤษได้แล้ว จะดีหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่คนที่จะมีความแตกต่างและโดดเด่นขึ้นมาก็คือคนที่ได้ภาษาที่สาม ด้วยไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย หรือแม้แต่ภาษาพม่า อย่างผมนี้พอพูดภาษาจีนได้เพราะเรียนมาตั้งแต่เด็ก ก็ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นเวลาสื่อสารกับเพื่อนคนจีนครับ”
แล้วเรื่องราวของ LGBT ในประเทศไทย ทางอาจารย์สมิทธิ์มีความเห็นอย่างไรบ้างคะ คิดว่าประเทศไทยควรจะเปิดรับเรื่องพวกนี้ได้หรือยังคะ?
“โอ้ว จากเรื่องภาษา วกมาเรื่องเพศ โอเค ขอบคุณสำหรับคำถามครับ ผมคิดว่าไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยหรอกครับที่ควรเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศครับ ประชาคมโลกต้องรับรู้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งธรรมชาติ และไม่ได้เป็นความผิดบาป ไม่ได้เป็นความวิปริตใด แต่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์และโลกในนี้มาแต่เดิมแล้ว ดังนั้นการปิดกั้นโอกาส สิทธิ์ และความเท่าเทียมกันที่เพิ่งเกิดขึ้นมานี้ เป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เอากฎหมู่มาบังคับกับคนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ให้กลายเป็นคนชายขอบ ซึ่งถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะมีชีวิตคู่ตามกฎหมาย การรับบุตรธรรม ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ทั้งๆ ที่ก็จ่ายภาษีเท่าๆ กัน ทำงานได้ประสิทธิภาพเท่าๆ กับคนส่วนใหญ่”
ถ้าอาจารย์สมิทธิ์มีโอกาสเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์เรื่องราวของ LGBT อาจารย์สมิทธิ์อยากจะช่วยรณรงค์ในเรื่องใดบ้างคะ?
“อันดับแรกก็คือ การให้สิทธิที่เท่าเทียมกันในการแต่งงานครับ ซึ่งผมก็เรียกไม่ถูกอะครับว่าจะเรียกว่าอะไร จะเรียกคู่ชีวิต จะเรียกคู่รักเพศเดียวกัน หรืออะไรก็ตาม แต่หลักๆ คือไม่ควรต้องระบุว่า การแต่งงานจะต้องเป็นบุคคลเพศชาย กับบุคคลเป็นหญิงครับ เพราะจริงๆ แล้ว การใช้ชีวิตคู่นั้น อาจจะเป็นคู่ที่เป็นเพศอะไรก็ได้ ซึ่งคู่นั้นเขาตัดสินใจแล้วว่าจะแบ่งปันครึ่งหนึ่งของกันและกัน กฎหมายก็ควรเคารพการตัดสินใจของบุคคลคู่นั้น ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรว่าจะต้องเอาเรื่องเพศมาเป็นเกณฑ์กำหนดสิทธิครับ”
ถ้าในอนาคตประเทศไทยรองรับกฎหมายการแต่งงานของเพศที่สาม มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้คะ?
“นี่จะพยายามเชื่อมโยงภาษาที่สามกับเพศที่สามหรอครับ ฮาฮาฮา ตอนนี้เวลาบอกกับเพื่อนต่างชาติว่าประเทศไทยยังไม่รองรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน เขาก็ทำหน้าราวกับว่าประเทศไทยเราด้อยพัฒนาทางความคิดสุดๆ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากนะครับ ถ้าประเทศไทยจะรองรับกฎหมายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน เพราะจะแสดงให้เห็นว่าคนในประเทศนี้มีสำนึกในการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้นครับ ทำให้ประเทศไทยดูเป็นประเทศไทยที่มีเหตุผล มีอารยธรรมมากขึ้น ประชากรทุกเพศก็สามารถเจริญก้าวหน้า เลือกทางเดินชีวิต และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของประเทศนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นครับ รวมๆ ก็ทำให้ประเทศไทยน่าอยู่มากขึ้นครับ คุณจะบอกกับลูกหลานได้อย่างเต็มปากได้อย่างไรว่าประเทศไทยให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน ถ้ายังมีกฎหมายที่ให้โอกาสแต่คนรักต่างเพศเท่านั้นที่จะมีสิทธิแต่งงานกันได้”