ยังมีให้ชมไปจนถึง 7 พฤศจิกายน 2559 สำหรับ ฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ย้อนหลังไปไกลถึงกว่า 150 ปี เป็นนิทรรศการภาพถ่ายพระมหากษัตริย์ พระชายา โบราณราชประเพณี สามัญชน วิถีชีวิต ที่หาชมได้ยาก เพราะไม่เคยเผยแพร่ในเมืองไทยมาก่อน
และเป็นภาพยอดเยี่ยมซึ่งผ่านการคัดเลือกจาก ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ แห่งวังจักรพงษ์ อันจะทำให้ความเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์กว่าศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา ผ่านภาพซึ่งกลายเป็นบันทึกความทรงจำ ฝีมือช่างภาพต่างชาติและคนไทยด้วยกันเองยุคที่รู้จักกล้อง จนกลายเป็นตำนานไปแล้ว
ถือเป็นครั้งแรกในเมืองไทยของนิทรรศการภาพถ่ายโบราณสยาม เมื่อแรกมีจนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 กว่า 150 ภาพ ซึ่งต้นฉบับเก็บอยู่ในต่างประเทศ
ภาพถ่ายโดยช่างภาพต่างชาติและคนไทยยุคบุกเบิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นช่างภาพในราชสำนักสยามในเวลาต่อมา ภาพเก่าที่คนไทยไม่เคยเห็นเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุมให้กระจ่าง
ไม่ว่าจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระรูปเจ้านาย ภาพขุนนางและราษฎร ภาพสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ภาพเหตุการณ์และพระราชพิธีสำคัญวิถีชีวิตคนไทยในกรุงและชนบทและนาฏศิลป์โขนละครลิเกจากภาพโบราณ ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในมุมมองร่วมสมัย
ด้วยผลงานของศิลปินที่ทำให้เห็นมิติและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของเมืองมหาชน เศรษฐกิจและสังคม วิถีชีวิตการสัญจรทางน้ำและบก ศิลปะการแสดง รวมไปถึงเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สำคัญสร้างวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่ต่อยอดการตีความ และเป็นการสืบต่ออายุภาพเหล่านี้
เราจะเห็น พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายเมื่อต้นรัชกาล ในฉลองพระองค์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ยุคแรก
ภาพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร กำลังจะเสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งซึ่งจอดเทียบอยู่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในคราวรับเสด็จมกุฏราชกุมารรัสเซียที่มาเยือนสยาม
ภาพ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4
ภาพเจ้าจอมสุเปีย หรือ โซเฟีย ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมผู้เป็นมุสลิมคนแรก และคนเดียว ที่เป็นเจ้านายจากทาง “มลายู” (สำหรับสมเด็จพระศรีสุลาไลย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม ในรัชกาลที่ 2 ทรงมีบรรพบุรุษฝ่ายพระมารดาเป็นมุสลิมสุหนี่จากสงขลา แต่เจ้าจอมมารดาเรียมประสูติที่เมืองนนทบุรี ซึ่งพระบิดา คือพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) เป็นเจ้าเมืองอยู่ )
ภาพเจ้านายไทยแต่งชุดแบบสก๊อต
ภาพชาวต่างชาตินั่งวาดรูปที่ลานในวัดโพธิ์
ภาพศาลยุติธรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องมีผู้พิพากษาชาวต่างชาติตัดสินความด้วย
ภาพมุมสูงพระบรมหาราชวังและวัดพระแก้ว ถ่ายจากหอนาฬิกาที่กระทรวงยุติธรรม ก่อนที่หอนี้จะถล่มลงมาภายหลัง
ภาพในระยะใกล้ของการอัญเชิญพระโกศทรงพระศพของเจ้านายชั้นสูง ด้วยเกรินบันไดนาคขึ้นสู่จิตกาธานในพระเมรุมาศท้องสนามหลวง
ภาพเด็กชาวเยอรมันที่อยู่ในสยาม แต่งกายแบบไทย
ภาพ พระยาประเสริฐศาสตร์ศุภกิจ หรือ หมอไรเตอร์ นายแพทย์ประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นชาวเบลเยียม
ภาพหมอไรเตอร์และภริยาในรถบุปผชาติที่แต่งประกวดในงานฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปี ของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452
โรงละครของเจ้าพระยามหินทร์ หรือ พริ้นเธียเตอร์ ที่สร้างในรัชกาลที่ 4 ที่ท่าเตียน
ภาพหมู่ซึ่งถ่ายเมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดียอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2415 ในต้นรัชกาล เพื่อทรงทอดพระเนตรความเจริญของนานาประเทศใกล้เคียง โดยมีผู้สำเร็จราชการอังกฤษมารับเสด็จ
ซุ้มรับเสด็จที่สร้างโดยกรมโยธาธิการบนถนนราชดำเนินนอก เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ.2450
กุลสตรีลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง ในชุดสตรีไทยในราชสำนัก
ภาพนู้ดยุครัชกาลที่ 4 ถ่ายโดยช่างภาพฝรั่งที่เข้ามาในสยาม
ฝรั่งที่ทำงานสยามยุคนั้น ถ่ายภาพร่วมกันที่บันไดขึ้นพระปรางค์วัดอรุณ
ภาพที่หาชมได้ยากเหล่านี้ รวมถึงภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ ฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. 2403 – 2453 จัดระหว่างวันนี้เป็นต้นไป – 07 พฤศจิกายน 2559
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 จัดโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด
( อ่านข่าววันเปิดงาน ….www.dodeden.com/213768.html )
จากช่างภาพ: บาทหลวงลาร์โนดี, เฟเดอร์ เจเกอร์, ปิแอร์ รอซิเอร์, คาร์ล บิสมาร์ค, ฟรานซิส จิตร, จอห์น ทอมสัน, เฮนรี่ ชูเรน, กุสตาฟ ริชาร์ด แลมเบิร์ต, แม็กซ์ มาร์ติน, วิลเลียม เคนเนท ลอฟตัส, ฟริทซ์ ชูมานน์, โจคิม แอนโทนิโอ, โรเบิร์ต เลนซ์, เอมิล กรูท และ ไคชิ อิโซนากะ
ศิลปิน: เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช, ขวัญชัย ลิไชยกุล, เล็ก เกียรติศิริขจร, นักรบ มูลมานัส, ไพโรจน์ ธีระประภา, พิเชษฐ์ กลั่นชื่น, พินิตย์ พันธประวัติ, สืบสกุล ศรัณพฤฒิ และ อุกฤษณ์ สงวนให้
ภัณฑารักษ์รับเชิญ: หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และ ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ ภัณฑารักษ์ร่วม: พิชญา ศุภวานิช
ขอขอบคุณภาพจาก ทีมประชาสัมพันธ์งานฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ฯ