ยาต้านแบคทีเรีย ยาปฎิชีวนะ เลือกใช้อย่างไรให้ถูกต้อง? ซึ่งปัจจุบันพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมในการซื้อยามากินเองแบบผิดๆ มีการใช้ยากันโดยที่ไม่มีความจําเป็น หรือใช้ยากันอย่างพร่ำเพรื่อ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการหาซื้อยาได้ง่ายทั่วๆ ไป ซึ่งล้วนแต่ทําให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในภายหลังทั้งสิ้น และกลุ่มยาที่มักจะถูกใช้กันด้วยความเข้าใจที่ผิด คือยาปฏิชีวนะ
หลายคนมักจะคิดไปเองว่ายาปฏิชีวนะนั้นสามารถใช้รักษาโรคได้หลายชนิด รวมทั้งยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้ออื่นๆ ในร่างกายได้ บางที่มักเรียกยาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ยาปฏิชีวนะคือยาที่ไปฆ่า หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย จึงควรเรียกว่ายาต้านแบคทีเรียจะตรงกว่า ซึ่งแบคทีเรียนั้นมีมากมายหลายชนิด
โรคที่เกิดจากแบคทีเรียก่อโรคแล้วพบกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค หรือโรคผิวหนังบางอย่าง เช่น เป็นฝีหนอง เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้ จะใช้เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ซึ่งยาต้านแบคทีเรียที่จะเลือกใช้ มีมากมายหลายชนิด ต้องเลือกใช้ให้ตรงโรค ตรงชนิดของแบคทีเรียด้วย แต่หากการติดเชื้อเกิดจากเชื้อโรคอื่นๆ เช่น เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถช่วยได้
แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า คนไทยมีการใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะกันอย่างพร่ำเพรื่อในหลายๆ อาการ หรือหลายๆ โรค โดยไม่จําเป็น ยิ่งใน 3 กลุ่มโรคที่ไม่จําเป็น และไม่ควรใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ แต่กลับพบว่ามีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะที่สูงมาก ได้แก่
ไข้หวัด เจ็บคอ
มากกว่า 80% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มีความจําเป็นต้องกินยาต้านแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะเลย แค่เพียงรักษาตามอาการ ให้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ แต่ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บคอ มักไม่ไอ และมีหนองที่ต่อมทอนซิล แพทย์หรือเภสัชกร ก็อาจวินิจฉัยได้ว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งต้องใช้ให้ครบขนาด และระยะเวลา
ท้องเสียที่ไม่มีมูกเลือด
กว่า 99 % พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการรักษาตามอาการ ปล่อยให้ถ่ายของเสียออกไปจนหมด ร่วมกับดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุที่จําเป็น แต่หากอาการท้องเสียรุนแรง ร่วมกับถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ แบบนี้อาจสงสัยได้ว่า เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร แพทย์หรือเภสัชกร จึงอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะได้
แผลสะอาด หรือแผลเลือดออก
เช่น ถ้าโดนมีดบาด สิ่งที่ควรทําคือ บีบเลือดทิ้งออกไปก่อน เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปทางบาดแผล แล้วจึงล้างด้วยน้ำสะอาด และใส่น้ำยาฆ่าเชื้อธรรมดา เช่น โพวิโดน แล้วจึงปิดแผลเพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าไป และป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ เป็นการรักษาที่สําคัญที่สุด โดยไม่ต้องทานยาปฏิชีวนะ นอกจากบาดแผลบางอย่าง เช่น หมากัด ตะปูตํา หรือบาดแผลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน สิ่งเหล่านี้ จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ทําแผล ล้างแผล โดยเฉพาะกรณีตะปูตํา หรือสุนัขกัด ต้องไปสถานพยาบาลเพื่อฉีดยาบาดทะยัก หรือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และอาจต้องทําแผลต่อเนื่อง
ความเข้าใจผิดเรื่องยาปฏิชีวนะในคนไทยยังมีอยู่มาก ยิ่งไปกว่านั้น การหาซื้อยาเองตามร้านชํา หรือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรก็ง่ายมาก อีกทั้งผู้ขายยาที่ไม่ใช่แพทย์หรือเภสัชกร ก็จะจ่ายยาให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการ จึงทําให้เกิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จําเป็นกันเป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการดื้อยา ในคนไทยพบกลุ่มที่ดื้อยาสูงมาก
………………………………………………………………………..
ดังนั้น เราจึงควรตระหนักเรื่องการใช้ยา อย่าใช้ยาพร่ำเพรื่อ และควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาอย่างเหมาะสม ที่สําคัญคือ ผลกระทบของการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อเกินความจําเป็นก็คือ ส่งผลต่อเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย ทําให้เสียสมดุล ส่งผลต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้
เนื้อหาโดย Dodeden.com