ที่มา: voicetv

เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพประกอบจาก voicetv

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอมรายงานว่า ทางเว็บไซต์วอยซ์ทีวี ได้นำเสนอการสำรวจสยามสแควร์ในวันที่เศรษฐกิจซบเซา

ซึ่ง สยามสแควร์นั้น ถือ “แลนด์มาร์ค” ของ “คนรุ่นใหม่” วันนี้จะมีสภาพเป็นอย่างไร อดีตแลนด์มาร์คของ “คนรุ่นใหม่” ที่แม้จะเป็นย่านของคนมีกำลังซื้อ

และอยู่ในจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งถนนและรถไฟฟ้า แต่สยามสแควร์ยังคงสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่มีทั้งขาขึ้นและขาลงได้ตามยุคสมัย

เว็บไซต์วอยซ์ทีวี พูดคุยกับ “พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ” ผู้เขียนหนังสือ “การเมืองเรื่องสยามสแควร์” ถึงความเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคในย่านแห่งนี้

พร้อมพาเดินชมแต่ละจุด ย้อนอดีตในยุครุ่งเรืองและร่วงโรย เขาเป็นชาวสยามสแควร์ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษด้านสถาปัตยกรรมให้กับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งและยังมีออฟฟิศในสยามสแควร์ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

“พรรษิษฐ์” บอกว่า สยามสแควร์ตอนนี้ มีสภาพคล้ายช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 จะเห็นได้ว่าห้องแถวที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ปล่อยให้ผู้ประกอบการเช่าเพื่อทำการค้าขาย ตอนนี้ว่างลงหลายห้อง ถึงแม้ว่าจำนวนหนึ่งจะว่าง

เนื่องจากผู้ประกอบการย้ายร้านค้าขึ้นไปขายบนตึก “สยามสแควร์วัน” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ล่าสุดที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯลงทุน อยู่ในตำแหน่งที่เคยเป็นที่ตั้งของ “โรงหนังสยาม”

หลังมีเหตุการณ์ไฟไหม้ เมื่อครั้งสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปี 2553 โดยตอนนั้นทางจุฬาฯ ก็มีแผนจะทำโครงการนี้มาก่อนแล้ว มีแบบก่อสร้างตึกนี้มาก่อนหน้านั้นอยู่แล้วด้วย

แต่อยู่ระหว่างเจรจากับตระกูลตันสัจจา ผู้เช่าที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของโรงหนัง สยาม ลิโด สกาลา ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าว การสร้างตึกสยามสแควร์วัน ก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

969636

เขาบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่มีผู้ประกอบการรายย่อยทั้งผู้เช่าช่วงและเช่าโดยตรงกับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ จะเปลี่ยนหน้ากันมาสร้างโอกาสให้แก่ตัวเองในการทำธุรกิจบริเวณย่านนี้

แต่สำหรับปีนี้ห้องแถวหลายห้องถูกทิ้งให้ว่างเป็นระยะยาวนานกว่าปกติ โดยก่อนหน้านี้เมื่อห้องใดว่างได้ไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ติดต่อเข้ามาแทนที่ทันที

“เดิมสยามสแควร์ เป็นโอกาสของคนที่มีไอเดีย รักความเป็นอิสระ อยากทำอะไรเป็นของตัวเอง จะเริ่มต้นด้วยเงินห้าหมื่นหรือหลักแสนก็เป็นไปได้สำหรับที่นี่ พอสยามฯ บูมขึ้นมา คนเหล่านี้ก็สร้างธุรกิจของตัวเองจนประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น เจ้าของร้านแมงโก้แทงโก้ หนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

จนกระทั่งปี 2549 จุฬาฯ ปฏิวัติค่าเช่าขึ้นมาแรงมากเพราะมุ่งจะเอารายได้ไปก่อสร้างโครงการจามจุรีสแควร์ หลังจากนั้นผู้ประกอบการรายย่อยก็ลดจำนวนลง และมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นแบรนด์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาแทนที่มากขึ้น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเกิดยาก

แต่หากจะย้อนอดีตไปไกลกว่าความสำเร็จของรายย่อยอย่าง “แมงโก้แทงโก้” หลายคนคงไม่ทราบว่าที่สยามสแควร์นี่ก็เป็นจุดกำเนิดของร้านสุกี้ดัง

อย่าง  “เอ็มเคสุกี้” ซึ่งเคยเช่าห้องแถวสองคูหาอยู่ในสยามสแควร์มาก่อนที่จะขยายไปห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว และประสบความสำเร็จขยายไปทั่วประเทศรวมถึง “ลอนดอน สตรีท” ย่านพัฒนาการอย่างทุกวันนี้”

969636

ภาพร้านแมงโก้แทงโก้ ร้านชั่วคราวในตู้คอนเทนเนอร์ หลังเหตุการณ์ไฟไหม้โรงหนังสยามเมื่อปี 2553 รอการย้ายเข้าตึกแถวในสยามสแควร์

พรรษิษฐ์ เล่าถึงการฟื้นตัวในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ของสยามสแควร์ด้วยว่า “ตอนนั้นห้องแถวหลายห้องก็ว่างเหมือนตอนนี้นี่แหละ แล้วจู่ๆ ก็มีคนเกิดไอเดียลงทุนบริการถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ เป็นการลงทุนไม่มาก แค่เช่าตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ 3 ตู้กับติดแอร์ ก็ได้เงินแล้ว

ตอบโจทย์ความเป็นย่านวัยรุ่นด้วย เมื่อก่อนก็ไม่ได้มีสมาร์ทโฟนให้เซลฟีแบบสมัยนี้ และผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่สร้างภาพความทรงจำอีกยุคของที่นี่ ก็คือการเกิดขึ้นของ “เซ็นเตอร์พอยท์”

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า เซ็นเตอร์พอยท์เกิดขึ้นได้เพราะพื้นที่ตรงนั้นระงับโครงการเดิม

ซึ่งกำลังก่อสร้างศูนย์การค้าแทนลานจอดรถ แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ2540 จึงยกเลิกสร้างศูนย์การค้า และมีผู้ประกอบการรายใหม่

คือ บริษัท พรไพลิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ของตระกูลชวนไชยสิทธิ์ นำมาทำลานอเนกประสงค์เป็นลานโล่งจัดกิจกรรม มีงานอีเวนท์

หลังจากตอนแรกทำซุ้มร้านค้าแต่ไม่เวิร์คก็รื้อทิ้ง แล้วเป็นลานโล่งจัดงานคล้ายๆ กับที่พาร์คพารากอนทำทุกวันนี้

ตอนนั้นเซ็นเตอร์พอยท์ออฟสยามสแควร์ บูมมาก เป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ได้แสดงออก มีการแสดงของวงดนตรีอินดี้ มีการขายของแบกับดิน สร้างผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเป็นเวทีหาเสียงทางการเมือง

แต่สุดท้ายเอกชนที่ทำให้เซ็นเตอร์พอยท์ประสบความสำเร็จเป็น “แลนด์มาร์ค” ของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ก็ไม่ได้รับการต่อสัญญากับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ สิ้นสุดและกลายเป็นตำนานไปในปลายปี 2550

ส่วนผู้เช่ารายต่อมาก็คือ บริษัท ทิพย์พัฒนาอาร์เขต จำกัด บริษัทหนึ่งในเครือของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี มาลงทุนสร้าง ดิจิตอล เกตเวย์ มูลค่าก่อสร้างกว่า 300 ล้านบาท”

969636

ภาพ “พรรษิษฐ์” ท่ามกลางผู้คนเข้าแถวซื้อสินค้าลดล้างสต๊อกร้าน IStudio สาขาดิจิตอล เกตเวย์ สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558

969636

969637

คนต่อคิวซื้อสินค้าลดล้างสต๊อกร้าน IStudio สาขาดิจิตอล เกตเวย์ สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558

พรรษิษฐ์ มองว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเรียกว่าดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ค้าด้วยไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยต้องมีกำลังใจ แต่ตอนนี้วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจไม่มีสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น

แตกต่างจากปี 2540 ที่แม้จะวิกฤตแต่ก็ยังมีความรู้สึกว่ามีลู่ทางจะฟื้นขึ้นมาได้อีก ขณะที่ตอนนี้มีแต่ความห่อเหี่ยว แบงก์ปล่อยกู้น้อยลง อสังหาริมทรัพย์ก็ขายไม่ได้ ภาพรวมยังมีปัญหาไม่เฉพาะแต่รัฐบาลชุดนี้

“แม้จะอยู่ในย่านของคนมีกำลังซื้อแต่สยามสแควร์ก็ยังสะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แย่ได้ดี สมัยก่อนตอนค่าเช่ายังไม่แพงและเศรษฐกิจยังไม่แย่ นิสิตจุฬาฯ บางคนยังมาเช่าห้องแถว เปิดร้านขายเครื่องประดับ มีบรรยากาศที่น่าลงทุนมาก”

969636

จุดที่เคยเป็น เซ็นเตอร์พอยท์ออฟสยามสแควร์ ปัจจุบันคือ ดิจิตอล เกตเวย์ ภายใต้บริษัทในเครือของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

เมื่อถามว่าอดีตพื้นที่ของ “คนรุ่นใหม่” แห่งนี้กำลังจะตายอย่างถาวรแล้วหรือไม่ เขาตอบว่า น่าจะตายอย่างชั่วคราวเช่นเดียวกับปี 2540 ซึ่งก็อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าวิกฤตครั้งนั้นได้พลิกโอกาสให้กับผู้ประกอบการอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็นตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ หรือ เซ็นเตอร์พอยท์

นอกจากนั้นแล้ว ที่แห่งนี้ก็เคยบูมเรื่องสถาบันกวดวิชา ซึ่งสมัยก่อนถ้าไม่เรียนที่สยามก็มีอีกแห่งคือถนนราชดำเนิน

แต่แม้ว่าปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาจะกระจายไปหลายแห่งก็ตาม ย่านสยามสแควร์ยังคงเป็นทำเลที่มีความสะดวกสำหรับนักเรียนที่เตรียมแข่งเข้ามหาวิทยาลัย

หรืออีกธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยที่ค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องประดับซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย อันเป็นผลจากการแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายเข้ามาลงทุน ได้แข่งขันเลือกสรรสินค้ามาประชันกันกลายเป็นแหล่งแฟชั่น

จากเดิมก่อนหน้านั้นก็เคยผ่านยุคสมัยที่ห้องแถวย่านนี้เต็มไปด้วย “ห้องเสื้อ” มาแล้ว ส่วนในอนาคตย่านนี้จะมีความเป็นวัยรุ่นจ๋าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสดใหม่ของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ล่าสุดทราบว่าจะมีโรงละครที่ “สยามสแควร์วัน” โดยเวิร์คพอยท์…. ก็คงต้องรอดูว่าจะเวิร์คหรือไม่ แต่นอกจากการทำงานของภาคเอกชนแล้ว หน่วยงานของรัฐอย่าง จุฬาฯ ก็ควรจะจัดกิจกรรม ไม่ใช่เน้นแค่มุ่งหาผลตอบแทนทางธุรกิจ เพราะภาคเอกชนเขาทำอยู่แล้ว

จุฬาฯ ควรจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมบ้างจะฉายหนังอาร์ต หรือการจัดเล่นดนตรีก็ได้ ให้สยามสแควร์เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของคน ให้สยามสแควร์ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้แสดงออก…

สมัยมีเซ็นเตอร์พอยท์ แม้ผู้เช่าจะเป็นเอกชน แต่เขาก็บาลานซ์สิ่งเหล่านี้ได้ดี ขณะที่ปัจจุบันสยามสแควร์ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เพราะถ้าคุณถือกีตาร์มาเปิดหมวกเล่นในสยามสแควร์นี่ทำไม่ได้นะ

ทำได้แค่ที่ฟุตบาทข้างถนน เพราะสยามสแควร์ไม่ใช่ที่สาธารณะ มันกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลขององค์กรหนึ่ง… มหาวิทยาลัยควรจัดพื้นที่ให้ประชาชน ให้โอกาสกับทุกกลุ่มคนมากกว่าจะมุ่งเน้นเพียงการประกอบธุรกิจกับกลุ่มทุนรายใหญ่…. พื้นที่ตรงนี้กำลังรอการเกิดใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่อีกครั้ง”

ภาพตึกบริติช เคานซิล ออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย

969636

ภาพร้านหนังสือดอกหญ้า(แห่งเก่า)และที่ย้ายมาด้านหลังของร้านเดิมและลดขนาดของร้านลง

969636

969637

ภาพร้านโดเรมี ในตำนาน เพียงแต่ฮัมทำนองเพลงให้คนขายฟัง ก็สามารถทราบชื่อเพลง ผลงานศิลปินและอัลบั้มทันทีแม้ไม่รู้ชื่อเพลงมาก่อน

969636

ภาพห้องแถวประกาศให้เช่า

969636

969638

เรื่องน่าสนใจ