กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามการกะทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุกรวบหมอเถื่อน ระหว่างให้บริการฉีดวิตามินเสริมความงาม ใสคลินิกเสริมความงาม ย่านสวนหลวง พบจบการศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง แต่อาศัยประสบการณ์ผู้ช่วยแพทย์มาแอบอ้างเป็นแพทย์มาให้บริการเสริมความงาม สั่งฟันโทษทันที 6 กระทง
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า จากการที่ กรม สบส.ได้รับเบาะแสว่ามีบุคคลที่มิใช่แพทย์ หรือหมอเถื่อน มาลักลอบให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชน ในคลินิกแห่งหนึ่ง ย่านสวนหลวง จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. วางแผนการจับกุมหมอเถื่อนรายดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองปราบปรามการกะทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบบีวีจีคลินิกเวชกรรม ซึ่งตั้งอยู่ ณ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ พบชาย อายุ 36 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินเสริมความงามแก่ผู้รับบริการ ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับมีการเปิดให้บริการแก่ประชาชนในเวลาที่ได้รับออนุญาตกับกรม สบส. อีกทั้ง จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสอบสวนผู้ให้บริการก็พบว่ามิใช่แพทย์ โดยหมอเถื่อนรายดังกล่าวยอมรับว่า ตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แต่อาศัยว่าเคยทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์มาก่อนจึงนำประสบการณ์ระหว่างนั้นมาลักลอบให้บริการเสริมความงามในคลินิกแห่งนี้ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดใน 6 กระทง ประกอบด้วย 1.ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต 4.จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 5.จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 6.จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ก่อนส่งตัวผู้กระทำผิดให้พนักงานสืบสวนดำเนินคดี และจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อไป
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า แม้จะมีการตรวจสอบแล้วว่าสถานพยาบาลที่ตนเลือกรับบริการจะเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพื่อความปลอดภัยก่อนเข้ารับบริการทุกครั้งขอให้ตรวจสอบ แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (ส.พ.6) ซึ่งแสดงไว้หน้าห้องตรวจว่าผู้ให้บริการมีชื่อและใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบว่าผู้ให้บริการรายดังกล่าวเป็นแพทย์จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากตรวจแล้วไม่พบ หรือใบหน้าไม่ตรงกับที่แสดงของให้หลีกเลี่ยงที่จะรับบริการ และให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ กรม สบส. ขอเน้นย้ำกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และประวัติผู้ให้บริการอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการแล้ว ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่