รอยแผลเป็นนูนดำ แผลหลุมสิว แผลอักเสบ เมื่อเจ้ามือแสนซน ล้วงแคะแกะเกา จนทําให้เกิดแผลเป็นนูนดําและร่องริ้วรอยอย่างน่าเกลียด จึงต้องเรียนรู้วิธีสยบแผล ก่อนที่มันจะปูดโปนดําขึ้นมา จนยากเกินแก้ที่จะรักษาให้ผิวของคุณให้งดงามดังเดิม ซึ่งสิ่งที่ผู้หญิงหลายๆ คนกลัวหนักกลัวหนา เวลาเป็นแผล เป็นสิว หรือต้องได้รับการผ่าตัด ก็คือรอยแผลเป็น เพราะมันทําให้ผิวอันสวยงาม มีตําหนิ

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก healthline.com

 

บางครั้ง แผลที่ว่านี้อาจมีความนูนใหญ่จนน่าเกลียดน่ากลัว เช่น แผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนบริเวณต้นแขน หรือในบางรายนั้น ปล่อยให้เกิดสิวอักเสบ เพราะมือไม้อันแสนซนไปล้วงแคะแกะเกา จนเกิดแผลเป็นที่ใบหน้าได้ หรืออาจเกิดจากการผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งหากมีแผลเป็น ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ หรือกลัดกลุ้มใจ เพราะยังมีกรรมวิธีเอาชนะแผลเป็นและแผลดําให้พอคลายใจกันได้บ้าง

 

รอยแผลเป็นนูนดำ แผลหลุมสิว เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การเกิดแผลเป็นนั้น มีสาเหตุอยู่ 2 ประการ อันดับแรก เกิดจากปัจจัยภายในร่างกายของเราเอง ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการซ่อมแซมผิวหนัง ยิ่งถ้าคนในครอบครัวนั้นมีลักษณะของการเกิดแผลเป็นง่าย ตัวคุณเองก็อาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากอีกเช่นกัน ปัจจัยประการที่ 2 นั่นคือปัจจัยจากภายนอกของการเกิดแผล เช่น การมีแผลเป็นหลังการอักเสบของสิว แผลเป็นจากโรคอีสุกอีใส แผลเป็นที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัด เราควรหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าต่างๆ อันส่งผลให้เกิดการเกิดแผลเป็น หมั่นดูแลทําความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกาแผล ไม่ควรไปโดนสะเก็ดของแผลก่อนที่ผิวภายในจะซ่อมแซมตัวเองได้ หรือควรรอให้กลไลของร่างกายของเรานั้น มีการทํางานที่สมบูรณ์ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มโอกาสของ การเกิดแผลเป็นได้ ซึ่งตําแหน่งของการเกิดแผลเป็นนั้น ส่วนใหญ่พบมากในบริเวณคาง คอ ไหล่ หน้าอก และหลังด้านบน ถือเป็นตําแหน่งที่เกิดรอยแผลเป็นได้ง่ายที่สุด

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก familydoctor.org

ลักษณะของรอยแผลเป็น

แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Hypertropic Scar หรือ Keloid เป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากการที่ร่างกายคนเรานั้น สร้างคอลาเจนจนมากเกินไป ซึ่งทําให้เกิดผิวหนังที่มีลักษณะนูน แข็ง และ Atropic Scar ก็คือแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นหลุมลึก

ตําแหน่งที่เกิดแผลเป็นได้ง่าย

เราจะพบรอยแผลเป็นได้บริเวณแผ่นหลัง ไหล่ และหน้าอก ซึ่งจะเกิดแผลคีลอยด์ได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น เพราะมีการขยับเขยื้อนบ่อยๆ เช่น การหายใจเข้าออก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของหน้าอก จึงทําให้หน้าอกเป็นตําแหน่งที่เกิดแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบริเวณที่มีผิวหนังหนา เช่น หลังและไหล่ ส่วนบริเวณที่มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้น้อย คือบริเวณใบหน้า ซึ่งการที่ร่างกายคนเรานั้นสร้างคอลาเจนจนมากเกินไป ก็จะทําให้เกิดผิวหนังที่มีลักษณะนูน แข็ง

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก skincarechannel

เราจะป้องกันแผลเป็นได้อย่างไร?

หากไม่อยากให้แผลเป็นมาบดบังความสวยงามของผิว ก็ต้องรู้จักวิธีป้องกันก่อนที่มันจะเกิดขึ้น เช่น ทําความสะอาดแผลให้ดี ไม่ควรปล่อยให้แผลสกปรก ซึ่งอาจทําให้เกิดการติดเชื้อได้ ควรใช้ยาทาป้องกันแผลนูน นอกจากนี้ ยังมีวิธีการต่างๆ ในการป้องกันแผลนูน เช่น หากมีแผลในตําแหน่งที่มีการขยับเขยื้อนบ่อย ๆ อาจต้องใช้ Elastic bandage พันไว้ เพื่อลดการขยับเขยื้อน ซึ่งการรัดต้องมีแรงกดมากพอควร จึงจะช่วยป้องกันการเกิดแผลนูนได้บ้าง หากเรารู้สึกคันๆ เจ็บๆบริเวณที่เป็นแผลคีลอยด์ แสดงว่ามันกําลังขยาย ให้รีบรักษาด้วยการฉีดยา เมื่อแผลนูนยุบราบไปแล้ว จะมีโอกาสปูดขึ้นมาใหม่ได้อีก ดังนั้น เมื่อเริ่มคัน หรือเจ็บที่แผลเดิม ให้รีบเข้ารับการรักษาก่อนที่แผลจะกลับไปนูนแข็งเหมือนเดิม

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก ACE Brand

 

เมื่อแผลหาย ควรรีบทายาป้องกันแผลเป็น เพราะถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานาน แผลอาจปูดนูนขึ้น ซึ่งอาจต้องทายาเป็นระยะเวลานาน กว่าจะหาย ใช้ซิลิโคนเจล ซึ่งเป็นแผ่นนูนหนาแปะทิ้งไว้ตลอด 24 ชม. แกะออกเมื่อเวลาอาบน้ำ แล้วปิดเข้าไปใหม่ หรือใช้ซิลิโคนเจลแบบหลอดทา ฯลฯ

การรักษาแผลเป็น

การรักษาแผลเป็นนั้น มีอยู่หลายๆ วิธี เช่น ในกรณีที่แผลเป็นนูน มีขนาดใหญ่มาก อาจต้องตัดแผลนั้นออก แล้วทําการตกแต่งใหม่ หรือการใช้ยาฉีดเพื่อละลายพังผืดในก้อนแผลเป็น เพื่อให้แผลมีขนาดเล็กลงได้ โดยต้องทําการฉีดหลายๆ ครั้ง จนกว่าแผลจะแบนราบ ซึ่งจะใช้เวลาในการรักษาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลของเราเอง ทั้งนี้ ยังมีการรักษาโดยการใช้เลเซอร์ เพื่อลดการทํางานของเส้นเลือด ช่วยให้ชะลอการสร้างคอลลาเจน ไม่ให้มีมากจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้แผลยุบตัวลงได้

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก ekoderm.eu

 

การใช้เทคโนโลยีจากเครื่อง Fractional laser โดยเครื่องจะทําการสลายพังพืด ช่วยให้แผลเรียบเนียบ และจางลง อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีของการกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวแบบจุดต่อจุดใต้ผิวหนัง ซึ่งจะสามารถช่วยให้รอยแผลเป็นนั้นจางหายไปได้ เป็นวิธีที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว สามารถรักษารอยแผลเป็นจากหลุมสิวได้ดี และมีความปลอดภัย 

การรักษาแผลเป็นชนิดที่เป็นหลุม

มีวิธีการรักษา โดยใช้การกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่การผลัดผิวแบบใช้ผงคล้ายเกร็ดอัญมณีขัด ในกรณีที่หลุมแผลไม่ลึกมาก จะช่วยทําให้ผิวเรียบเนียนขึ้นได้ แต่อาจต้องทําการรักษาหลายๆ ครั้ง รวมทั้งการใช้เทคนิคการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนด้วยการกลิ้งเข็มเล็กๆ บนรอยปุ่ม เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว นอกจากนี้ ยังอาจใช้กลุ่มเลเซอร์เย็น เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน จนทําให้เกิดการเติมเต็มของแผลหลุมสิวจากก้นแผลด้านล่างขึ้นมาได้ 

 

รอยแผลเป็นนูนดำ
ภาพจาก changesplasticsurgery.com

การรักษารอยหลุมหรือแผลเป็นนูน

สามารถทําการรักษาได้หลายๆ วิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลเป็น ซึ่งเราและแพทย์ต้องร่วมกันในการวางแผนรักษา ถ้าจะถามว่าวิธีการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะสามารถทําให้แผลเรียบสนิทเหมือนผิวปกติหรือไม่นั้น ผลที่ได้อาจไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะดีขึ้นประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ ประการ เช่น ผิวหนังของแต่ละคน อายุของแผลเป็น ว่าเป็นมายาวนานมากน้อยเพียงใด รวมทั้งบริเวณด้านล่างของผิวที่เป็นรอยแผลเป็นนั้น มีพังพืดเป็นจํานวนมากหรือไม่ ฯลฯ

หากเกิดแผลเป็นนูนดํา จะทําอย่างไร?

เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า หากมีรอยดําๆ ที่ผิวหนัง เรามักจะทําการขัดถูเพื่อให้เกิดความขาวขึ้น ซึ่งการกระทําดังกล่าวจะส่งผลให้ผิวเกิดความระคายเคืองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แผลมีรอยคล้ำและช้ำ ดังนั้น จึงไม่ควรขัดถู ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าเป็นแผลดําคล้ำที่แขนและขา ให้ทาครีมกันแดด ใช้ยาทาในกลุ่มไวเทนนิ่ง และมอยเจอร์ไรเซอร์ เช่น วิตามินซี, วิตามินเอ AHA เป็นต้น หากทายาแล้วไม่หาย ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง นั่นคือการใช้เลเซอร์ เช่น IPL,Dual yellow laser เป็นต้น

…………………………………………………………..

การรักษาคีลอยด์ รอยแผลเป็นนูนดํา และหลุมสิวนั้น ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยขจัดปัญหาพวกนี้ได้เป็นอย่างดี ถ้าได้บวกกับฝีมือแพทย์ผิวหนังที่มีความชํานาญจริงๆ ผลการรักษาจะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นไปอีก ซึ่งการรักษารอยแผลเป็นนูนดํา หลุมสิว หรือแผลเป็นในลักษณะต่างๆ แม้จะสามารถทําได้ในหลายๆ วิธี แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลเป็น รวมทั้งการร่วมกันวางแผนการรักษาระหว่างแพทย์และตัวเราเองด้วย 

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ