สาธารณสุขไทยได้ยึดรังนกปลอมที่ทำจากยางไม้ยาคารายา นำเข้าจากประเทศจีน เกือบ 2 พันขวด ที่ จ.เชียงราย โดยโดนข้อหาทั้งผลิต – นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตอาหารที่ไม่ได้ อย.
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 นพ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย ได้แถลงข่าวเรื่องการตรวจยึดผลิตภัณฑ์รังนกปลอม โดยมีของกลางเป็นผลิตภัณฑ์รังนก สีขวดใส ฉลากสีเหลือง ขนาดบรรจุ 130 มิลลิกรัม จำนวน 1,428 ขวด และสีน้ำเงินขนาดเดียวกันจำนวน 300 ขวด ขวดละ 130 มิลลิกรัม รวมทั้งหมด 1,728 ขวด ซึ่งแต่ละขวด ไม่ได้ระบุวันผลิต และวันหมดอายุ รวมไปถึงสถานที่ที่ผลิต นอกจากนี้ยังไม่มีตรา อย. และ มอก.ด้วย
ทั้งนี้ นพ.ชำนาญ กล่าวต่อว่า สำหรับผลิตภัณฑ์รังนกดังกล่าว สืบทราบมาว่าผลิตที่ ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย โดยทางโรงพยาบาลป่าแดง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจพบ จึงได้แจ้งเตือนไปยังผู้ผลิตให้ขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง จากนั้นตนได้ยึดของกลางทั้งหมดมาตรวจสอบ ซึ่งหากยังฝ่าฝืนจะต้องดำเนินคดี ในข้อหาก่อตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังโดนข้อหาผลิตอาหารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
นอกจากนี้ แพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย ยังได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์รังนกดังกล่าวว่า เมื่อตรวจสอบพบว่า รังนกนั้นได้ผลิตจากยางยาคารายา ซึ่งได้จากต้นชนิดหนึ่ง มีชื่อว่าสุพรรณิกา โดยมีคุณสมบัติคือ เมื่อนำไปแช่น้ำ ต้นชนิดนี้ก็จะดูดซับน้ำและพองตัวคล้ายรังนก ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ และยังไม่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีประโยชน์ทางด้านไหน นำเข้ามาจากประเทศจีนกิโลกรัมละ 3,000 – 4,000 บาท
นพ.ชำนาญ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับ กรณีที่นำยางยาคารายามาผลิตรังนก ทางผู้ผลิตได้จำหน่ายเพียงขวดละ 10 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับรังนกของจริงที่มีอยู่ในตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารังนกที่ผลิตจากยางยาคารายาจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ทางสาธารณสุขก็ต้องตรวจสอบถึงขั้นตอนตั้งแต่การผลิตอีกที เพราะอาจจะไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อได้ ซึ่งตนขอฝากเตือนไปยังผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก่อนซื้อมารับประทานด้วย
ที่มา : กระุปุกดอทคอม
ภาพ : กระปุกดอทคอม
เรียบเรียง : OpEL