ที่มา: มติชน

วันที่ 25 มิถุนายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตจากการรับประทานเมล็ดมันแกวหลายราย โดยในปี 2548 พบผู้เสียชีวิต 1 รายที่จ.เชียงราย ปี 2549 พบผู้ป่วย 6 ราย เสียชีวิต 1 รายที่จ.ศรีสะเกษ และปี 2551 พบผู้เสียชีวิต 1 รายที่จ.เลย

14352118721435212140l

ล่าสุดโรงพยาบาลยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ส่งตัวอย่างเมล็ดมันแกวมายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และได้ส่งต่อมาตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เนื่องจากมีผู้ป่วยรับประทานเมล็ดมันแกวต้มสุก แล้วมีอาการแพ้คล้ายได้รับพิษจากอาหาร ในจำนวนผู้ป่วยมีผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต 1 ราย และจากผลการตรวจวิเคราะห์ พบสารโรทีโนน (Rotenone)

นพ.อภิชัย กล่าวว่า สารโรทีโนนเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในเมล็ดมันแกว มีฤทธิ์เป็นสารเคมีกำจัดแมลง จัดเป็นสารมีพิษต่อชีวิตคนและสัตว์ ขนาดที่ทำให้หนูกินตายหรือในปริมาณ 132-1,500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งพิษของโรทีโนน เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และถ้าได้รับพิษในปริมาณมาก อาการจะรุนแรงขึ้น โดยจะมีผลต่อระบบการหายใจ คือ หยุดหายใจ ชัก และอาจถึงแก่ชีวิตได้

“การช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการพิษจากการรับประทานเมล็ดมันแกวเบื้องต้นคือทำให้อาเจียนให้เร็วที่สุดเพื่อกำจัดเศษพืชพิษในกระเพาะอาหารลดการดูดซึมของสารพิษ เช่น ให้ดื่มนม ไข่ขาว และนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์จะใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองอาการ ไม่มียารักษา เช่น ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ช็อก ต้องรีบให้การช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้ หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ ถ้าสูญเสียน้ำมาก และให้ยาตามความเหมาะสม เป็นต้น โดยพิษจะค่อยๆ ถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ”

ทั้งนี้ มันแกว เป็นพืชที่มีหัวใต้ดิน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าPachyrhizus erosus (L.) Urban ชื่อสามัญ คือ yam bean หรือ Jicama ในประเทศไทย มันแกวมีชื่อเรียกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น มันละแวก มันลาว (ภาคเหนือ) มันเพา (ภาคอีสาน) หัวแปะกัว (ภาคใต้)

ส่วนหัวสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน เช่น แกงส้ม แกงป่า ผัดเปรี้ยวหวาน หรือใช้เป็นส่วนผสมของซาลาเปา และทับทิมกรอบ ฝักอ่อนสามารถนำมาต้ม เพื่อรับประทานเป็นเครื่องเคียงทานกับน้ำพริกได้ ในภาคอีสานนิยมนำฝักและเมล็ดอ่อนมารับประทานเป็นผักสดกับส้มตำ แต่เมื่อฝักและเมล็ดแก่จะเป็นพิษ โดยเฉพาะเมล็ดมีสารที่มีฤทธิ์เป็นสารเคมีกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น โรทีโนน (rotenone) อีโรโซน (erosone), โดลินีโอน (dolineone)

เรื่องน่าสนใจ