ที่มา: Matichon Online

ราชสำนักสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ราวหลัง พ.ศ.1000 รับแบบแผนขึ้นปีใหม่สงกรานต์เดือนเมษายนตามแบบฮินดูในศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย แต่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปยังขึ้นปีใหม่เดือนอ้าย (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เหมือนเคยทำมาแต่เดิม แล้วเลี้ยงผีเดือน 4, 5 (เมษายน) เพราะยังไม่รู้จักสงกรานต์ ที่จำกัดพื้นที่เฉพาะในราชสำนัก ราชสำนักยุคนั้นยังสืบทอดพิธีกรรมดั้งเดิมที่มีการละเล่นเลี้ยงผีต่างๆ 

แต่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย โดยผสมผสานกับการละเล่นที่ก้าวหน้ากว่าจากภายนอก (ในวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย หรืออินเดียและเปอร์เซีย) ดังมีรายการอยู่ในกฎมนเทียรบาลยุคต้นอยุธยา เรือน พ.ศ.2000 ว่า พิธีขึ้นราศีใหม่ หรือขึ้นปีใหม่ มีเฉลิมฉลอง และพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทอดพระเนตรการละเล่นในสนาม พร้อมด้วย หน่อพุทธเจ้า, พระอุปราช, พระราชกุมาร, พระราชนัดดา ทหารและพลเรือนทุกกระทรวงตั้งขบวนช้างม้าพร้อมกันรับเสด็จ 

45

 

การละเล่นในสนาม มี 2 ชุด พร้อมเครื่องประโคมและการละเล่นมีฆ้องกลองมโหระทึก, ระบำ, โมงครุ่ม

ชุดแรก ชนช้าง, แข่งเกวียน, วัวชน, ควายชน, แกะชน, ช้างชน, คนชน, ตีไก่, ตีคลี, มวยปล้ำ, กระบี่กระบอง, เล่นกล, คลีม้า ชุดหลัง ม้า, ช้าง, ระเบ็ง, รำดาบ, โมงครุ่ม, คุลาตีไม้, พุ่งหอก, เล่นแพน, ยิงธนู, ปลายไม้, ลอดบ่วง, ไต่เชือกหนัง, ตีคลี

รายการทั้งหมดในกฎมนเทียรบาลไม่พบการละเล่นเกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่ารดน้ำ หรือสาดน้ำ มีชื่อเรียกการละเล่นเหล่านี้อย่างรวมๆ ว่า สรรพยุทธ และ สรรพคิลา

สรรพยุทธ อาจหมายถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธที่เรียกกันว่ากระบี่กระบอง และ สรรพคิลา อาจหมายถึงการกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ บางอย่างตรงกับ เบิกโรงเล่นหนัง ในสมุทรโฆษฯ เช่น หัวล้านชนกัน, ลาวกับไทยฟันดาบ, ชวาแทงหอก, ชนแรด, แข่งวัวเกวียน, จระเข้กัดกัน ฯลฯ และบางประเภทจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์ เช่น ชนช้าง, ชนไก่, ช้างกับเสือสู้กัน, ไต่ลวดไม้สูง, ลอดบ่วงและโจนร่ม, วิ่งงัวและควาย, มวยปล้ำ, และมวยชก ฯลฯ การละเล่นเหล่านี้เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร

เรื่องน่าสนใจ