ร้อยไหมให้หน้าเด้งดึ๋ง ตึงกระชับ โดยไหมละลายชนิดต่างๆ เช่น ไหมเงี่ยง ไหมละลาย เป็นการทำหัตการโดยการร้อยไหมด้วยไหมเย็บแผลธรรมดา ที่ศัลยแพทย์ตกแต่งใช้ในการเย็บแผลเป็นระยะเวลาเนิ่นนานแล้ว เรานําไหมเหล่านี้มาใช้ในเวลาที่มีการผ่าตัดเย็บบาดแผลทั่วไป ทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด ไหมละลาย PDO ย่อมาจาก polydioxanone เป็นไหมที่มีการละลายโดยวิธี Hydrolysis ซึ่งจะมีปฏิกริยาการอักเสบต่อเนื้อเยื่อน้อย ศัลยแพทย์ตกแต่ง จึงนิยมใช้ไหมชนิดนี้ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง เพื่อให้สามารถยึดขอบแผลไว้นานพอที่จะป้องกันการขยับของแผลหลังจากตัดไหมที่เย็บภายนอกออกแล้ว จะได้ไม่เกิดแผลเป็นที่ไม่สวยงาม
เริ่มแรก การใช้ไหมก็เพื่อการเย็บเนื้อเยื่อเข้าหากัน ต่อมา มีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดดึงหน้าเกิดขึ้น โดยเลาะผิวหนังใบหน้าส่วนที่หย่อนคล้อยยกขึ้นมาในตําแหน่งที่เหมาะสม จากนั้น ก็ต้องใช้ไหมเพื่อเย็บตรึงผิวหนังที่ถูกยกขึ้นมาให้อยู่ในตําแหน่งที่ต้องการ จนกลายมาเป็นการผ่าตัดมาตรฐานทางศัลยกรรมตกแต่งตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การใช้ไหมโดยวิธีนี้ ก็มีปัญหาที่ยังต้องอาศัยความชํานาญของศัลยแพทย์ ต้องมีการผ่าตัดเล็กๆ บริเวณขมับ ถ้าทําไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็อาจเกิดเป็นคลื่นๆ เห็นจุดปุ่ม ณ ตําแหน่งที่เกาะดึง ในการที่จะทําการผ่าตัดแบบนี้ให้ได้ผลดี ต้องอาศัยความชํานาญ และประสบการณ์ของแพทย์พอสมควร แม้ว่าการดึงหน้าด้วยไหม จะมีข้อดีที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ผลของมันไม่ว่าจะใช้ไหมชนิดใดก็ตาม ก็ไม่ดีเท่ากับการผ่าตัดดึงหน้า จึงไม่สมควรที่จะมีการนํามาทําการโฆษณาว่าดีพอๆ กับการดึงหน้า
ร้อยไหมได้ผลจริงหรือ ?
ปัจจุบัน มีหลายบริษัทนําเข้าไหมละลายเข้ามาในบ้านเรา โดยแจ้ง อ.ย. ว่าเป็นไหมเย็บแผล แต่กลับนํามาใช้ในการยกหน้า ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. ไหมชนิดนี้ คือไหมเย็บแผลชนิดละลาย ได้นํามาติดกับเข็มกลวงสําหรับใช้พาไหมเข้าใต้ผิวหนัง แล้วดึงเข็มออก ตัวไหมจะค้างอยู่ใต้ผิวหนัง โดยไม่มีการเกาะเกี่ยวเนื้อเยื่อของผิวหน้าไปยังจุดยึดที่อื่น กลไกการทํางานคือ ไหมกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งจะทําให้ผิวหน้ากระชับขึ้น โดยจะพบว่าหลังสอดไหมใหม่ๆ ผิวหน้าบริเวณนั้นดูตึงขึ้น จริงๆ แล้วก็คือการบวม ที่เป็นผลจากการใช้เข็มสอดใต้ผิวหนังหลายๆ ครั้ง และมีเลือดออกด้านในตามรอยเข็มบ้างเล็กน้อย การบวมตึงที่โหนกแก้ม ทําให้ร่องแก้มดูจางลงเล็กน้อย แต่ในภายหลังเมื่อยุบบวมแล้ว ก็จะดูไม่ต่างจากเดิมมาก
และความเชื่อที่ว่า การละลายของไหม จะทําให้เกิดปฏิกริยาต่อร่างกาย อันนําไปสู่การกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทําให้ผิวหน้าดูดีขึ้นอีกหลายๆ ปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การละลายของไหมชนิด PDO นี้ เกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Hydrolysis ซึ่งมีปฏิกริยาต่อผิวหนังน้อย ไม่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนมากนัก ทําให้ศัลยแพทย์ตกแต่ง สามารถมาใช้เย็บแผลทั่วไป ถ้าเป็นไหมที่กระตุ้นคอลลาเจนมาก ก็จะเกิดแผลเป็นมาก คงไม่มีใครนํามาใช้
ในปัจจุบันนี้ คอลลาเจนถูกนํามาใช้เป็นจุดขายที่สําคัญในวงการความงามทุกระดับ เริ่มตั้งแต่อาหารเสริม มาจนถึงศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถจะทราบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งแพทย์ทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานที่เพียงพอ ก็มักจะถูกชักจูงให้ใช้เครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ที่โฆษณาว่ามีการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน มีการแสดงภาพการเกิดคอลลาเจนหลังการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ทั้งที่ความจริงแล้ว คอลลาเจนเป็นเพียงกลไกปกติของร่างกายต่อการบาดเจ็บ การใช้พลังงานพวกเลเซอร์ คลื่นวิทยุ หรือแม้กระทั่งเข็มเล็กๆ ธรรมดา ที่ทําให้เกิดการบาดเจ็บใต้ผิวหนัง ร่างกายก็จะมีขบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติ คือ ปวด บวม แดง ร้อน ตามด้วยการซ่อมแซมให้แผลหายโดยสร้างคอลลาเจน ถ้าซ่อมแซมมากเกินไป ก็จะเกิดแผลเป็น กล่าวอย่างง่ายๆ แผลเป็นคือคอลลาเจนที่มีมากเกินไปนั่นเอง
การสร้างคอลลาเจนเพื่อการหายของแผล คือกลไกปกติของร่างกาย ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไหมละลาย หรือไม่ละลาย ร่างกายก็จะมีการอักเสบ มากหรือน้อยแล้วแต่ชนิดของสิ่งแปลกปลอม ผลที่ตามมาคือ การบวม ซึ่งอาจช่วยให้ดูดีขึ้นเล็กน้อย ชั่วคราวไม่นาน และไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้ว่า จะสามารถยกผิวหน้าได้ดังที่โฆษณากันมากมายในประเทศไทย
••••••••••••••••••
โดยสรุป การใช้ไหมละลายสอดใส่ไว้ลอยๆ ในผิวหน้า แม้จะทําได้ง่าย มีข้อแทรกซ้อนน้อย (ถ้าไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น) แต่ผลที่ได้รับไม่น่าจะดีตามที่มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน กลไกการกระตุ้นคอลลาเจน เนื่องจากการทําให้เกิดการบาดเจ็บ และขบวนการละลายของไหมเย็บแผลธรรมดาที่ศัลยแพทย์ตกแต่งใช้กันมานานหลายสิบปี ไม่สามารถที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย และไม่แตกต่างกับการทําให้เกิดการบาดเจ็บโดยเครื่องมือ high tech ทั้งหลาย ที่ใช้คลื่นเสียงหรือคลื่นวิทยุ ความจริงแล้ว การใช้เครื่องมือเหล่านี้ ยังมีรายงานทางการแพทย์ที่สนับสนุนมากกว่าการร้อยไหมเหล่านี้มาก สิ่งที่ต่างกันคือ มีการบวมเพิ่มจากปริมาณไหมที่ใส่เข้าไป เหมือนการฉีดสาร filler ที่ไม่ถาวรเท่านั้น ศัลยแพทย์ตกแต่ง ถือว่าวิธีการร้อยไหม หรือการใช้เครื่องมือกระตุ้นเหล่านี้ ได้ผลแค่เป็นการเสริมการผ่าตัด หรือเป็นทางเลือกของคนที่ไม่ต้องการผ่าตัดเท่านั้น เหมาะสําหรับคนที่ไม่ได้หวังผลการเปลี่ยนแปลงมากนัก
เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com