ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ออกแถลงการณ์ สจล. เรื่อง ข่าวความผิดปกติทางการเงินของ สจล. ฉบับที่ 3 มีเนื้อหาสำคัญ ว่า ตามที่ สจล.แจ้งเรื่องพบความผิดปกติของบัญชีเงินฝากของสถาบันตามแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 และ 2 แล้วนั้น ขณะนี้ปรากฏพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้ สจล.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบบัญชีเงินฝากของสถาบัน
โดยมี ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี เป็นประธาน ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณะทำงานดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันแล้วพบว่า บัญชีเงินฝากที่ปรากฏความผิดปกติ มีจำนวนทั้งสิ้น 4 บัญชี โดยเป็นบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขา บิ๊กซี สุวินทวงศ์ จำนวน 3 บัญชี และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขา บิ๊กซี ศรีนครินทร์ จำนวน 1 บัญชี
ปรากฏมียอดนำฝากเข้าสู่บัญชี ทั้งหมด ไม่รวมดอกเบี้ย ประมาณ 1,475 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดเงินทั้งหมด เป็นเงินสำรองคลังของสถาบัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานตามแผนการประจำปี เช่น เงินเดือนค่าตอบแทน ค่าจ้าง การจัดซื้อครุภัณฑ์ และการจัดซื้อวัสดุประเภทต่างๆ แต่อย่างใด
นอกจากนั้น คณะทำงาน ฯ ได้ทำการตรวจสอบความผิดย้อนหลังถึงเดือนมิถุนายน 2555พบความผิดปกติเกิดขึ้นในการเบิกถอนเงินจากบัญชีสถาบันและทำให้ถาบันเสียหาย เริ่มต้นรายการแรกตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 และเกิดต่อเนื่องถึง 2 ธันวาคม 2557
ซึ่งเป็นการเกิดในช่วงชุดผู้บริหารตั้งแต่ออกนอกระบบราชการ พ.ศ.2551 มีคณะผู้บริหาร ที่มีอำนาจอนุมัติการเบิกถอนที่เกี่ยวข้อง 3 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม 2551 – 12 กรกฎาคม 2555 มีรศ.ดร.กิตติ ตรีเศรษฐ อธิการบดี ชุดที่ 2 ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2555- 27 พฤศจิกายน 2556 มีศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี และชุดที่ 3 ตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2556 จนถึงปัจจุบัน มีศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี ซึ่งการเบิก-ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เพื่อนำไปฝากในบัญชี ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า มีการปฎิบัติสืบเนื่องมาทุกคณะบริหาร โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ผอ.การคลัง เสนอเรื่องผู้บริหารอนุมัติเบิก-ถอนเงินจากบัญชีต่างๆ เพื่อนำไปฝากในบัญชีที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยระบุชัดเจนว่าเบิกจากบัญชีใด เพื่อเข้าบัญชีใด เป็นจำนวนเท่าใด ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจลงนาม ในการเบิก-ถอนเงิน และส่งคืนผอ.การคลัง เพื่อดำเนินการต่อ จากการตรวจสอบตามเอกสาร พบว่า มีการลงนามอนุมัติเบิก-ถอนเงินที่ถูกต้อง โดยมีการระบุชัดเจนว่า เมื่อเบิก-ถอนเงิน มาแล้วให้นำเงินฝากในบัญชีสถาบัน
2.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเบิก-ถอนเงินทุจริต พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ซึ่งคือ นายทรงกลด ศรีประสงค์ และมีที่ไดรับการโอนเงินที่ทุจริตอีกหลายคน ทั้งนี้ ในรายละเอียดการสอบสอน ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนผอ.การคลัง ยังไม่ได้ให้การใดๆ กับพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ เหตุที่พนักงานสอบสวนเห็นว่า ผอ.เกี่ยวข้องกรณีทุจริต เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเงินฝากของสถาบัน และมีความคุ้นเคยกับนายทรงกลด ศรีประสงค์
ทั้งนี้ ลักษณะความเสียหายของเงินของสถาบัน ตรวจสอบพบ 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 มีการเบิก-ถอนเงิน ตามคำสั่งสถาบันจริง แต่นำเงินไปเข้าในบัญชีของสถาบันที่เป็นบัญชีปลอม และ กรณีที่ 2 มีการเบิก-ถอนเงิน ตามคำสั่งสถาบันจริง แต่ไม่มีการนำเงินไปเข้าสถาบันตามคำสั่ง
นอกจากนี้ สถาบันได้รับการประสานจากหน่วยงานตรวจสอบภายนอก ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เพื่อขอข้อมูล และส่งเจ้าหน้าที่ มารวมตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสถาบัน ยินดีให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบัน ได้มีการประชุมร่วมกับสภาคณาจารย์และพนักงานจำนวน 2 ครั้ง เพื่อตอบข้อซักถาม และรับฟังคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกสภาคณาจารย์ และพนักงาน
เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใส สถาบันจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ประธานสภาคณาจารย์ และพนักงานเป็นคณะทำงานเพื่อตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557
อย่างไรตาม สถาบัน ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ และพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสืบสวนและสอบสวนในการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ซึ่งสถาบันจะเอาผิดผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด และยืนยันการดำเนินการงานของสถาบันประจำปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาอย่างแน่นอน
ที่มา ผู้จัดการ