ที่มา: dodeden

หลังจาก นสพ.บ้านเมือง ออกประกาศแจ้งพนักงาน หยุดการผลิตหนังสือในวันนี้ ( วันที่ 1 ม.ค.60 ) เป็นวันแรก ซึ่งถือว่าเป็นการปิดตำนานหนังสือพิมพ์ไทยยุคแรก

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ออกประกาศแจ้งพนักงานหยุดผลิตหนังสือพิมพ์ โดยจะออกเผยแพร่ฉบับสุดท้าย ในวันที่ 31 ธ.ค. 60 พร้อมเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด โดยมีเนื้อหาดังนี้

“เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินการธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีสื่อชนิดใหม่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้การคงอยู่ของหนังสือพิมพ์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย

ทางผู้บริหารของบริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด ได้พยายามประคับประคองการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่อย่างสุดความสามารถมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็มิอาจทนต่อสภาวการณ์ในสภาวะปัจจุบันได้ จึงได้ตัดสินใจจะหยุดการผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

และจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด” ประกาศดังกล่าว ลงชื่อ นายชลอ จันทร์สุขศรี บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.บ้านเมือง

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พ.ย.15 โดยมี บริษัท บ้านเมืองการพิมพ์ จำกัด ที่มาจากการรวมตัวกัน ของนักหนังสือพิมพ์ และนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ มีมติให้ วิจารณ์ ภุกพิบูลย์ เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ และมานะ แพร่พันธุ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ซึ่งเป็นบุตรชายของ “ยาขอบ” (นักประพันธ์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ) เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

ส่วนตัวหนังสือพิมพ์ในยุคแรกนั้น พิมพ์สีขาวดำ ด้วยระบบออฟเซต ฉบับละ 16 หน้า ราคา 1.00 บาท ปัจจุบันหนังสือพิมพ์บ้านเมือง อยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการ บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด

อย่างไรก็ตาม ตามที่ ประกาศดังกล่าว ลงชื่อ นายชลอ จันทร์สุขศรี บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.บ้านเมืองนั้น คนในแวดวงสื่อมวลชนด้วยกันเองจะรู้ดีว่า ตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ดูแลด้านกฎหมายของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ

ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานด้านกองบรรณาธิการเลย นักข่าวในกองฯ แทบไมเคยรู้จัก รวมทั้งตำแหน่งนี้มักจะเป็นทนายความมืออาชีพ คอยรับคดีการฟ้องร้องเท่านั้น

ผู้มีอำนาจจริงๆ ใน  กองบรรณาธิการ คือ วิจารณ์ ภุกพิบูลย์ และ ลูกชาย พลฑิตย์ ภุกพิบูลย์ ที่คุมฝ่ายบัญชี และ ฝ่ายข่าว มาตลอด โดยมีวิเชียร อินจนา บรรณาธิการอาวุโส และ พี่อ๋อย มือขวา เป็นกำลังหลักของหนังสือพิมพ์

ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ผู้เขียนบทความนี้ ก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ นสพ.บ้านเมือง รวมทั้งลูกศิษย์คนอื่นๆ ที่ตอนนี้โด่งดังไปกันหลายคน อยู่ตามหน้าจอทีวี เป็นผู้ประกาศข่างบ้าง เป็นผู้รายงานข่าวตามทำเนียบ หรือ รัฐสภา ส่วนใหญ่ไปอยู่ ช่อง TNN24 ( ทีเอ็นเอ็น 24 )

เรื่องราวที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันก่อนหน้านี้ คือกรณี โลกออนไลน์มีการแชร์ บทความจากคอลัมนิสต์ที่ชื่อ “ฉลามเขียว” ซึ่งเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ โดยคอลัมนิสต์ ดังกล่าวยอมรับในบทความว่า ปัญหาทางการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโครงสร้างการเมืองที่ปิดกั้น ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาแข่งขัน ในวงการสื่อมวลชน

แม้ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องสำคัญที่วงการสื่อเปลี่ยนแปลงไป สื่อออนไลน์ เข้ามาแทนที่ แต่ปัญหาโครงสร้างการเมือง ก็ถือเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้สถานการณ์สื่อผิดธรรมชาติ

ตอนที่ “ฉลามเขียว” ออกมาเขียนบทความนี้ โดนกระแสสังคมตีกลับมากมาย เพราะหากมองจากคนภายนอก จะมองว่าหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เล็กๆ ฉบับหนึ่งเท่านั้น แทบจะไม่มีคนอ่าน หรือ อ่านเฉพาะก่อนวันหวยออก ซึ่งคนจะมองเพียงปัญหาเศรษฐกิจ และ สื่อออนไลน์  เป็นปัจจัยหลักในการปิดหนังสือพิมพ์

อย่าลืมว่าคอลัมนิสต์ที่ชื่อ “ฉลามเขียว” นั้น เคยยิ่งใหญ่ระดับที่ว่าไปจังหวัดไหนต้องมีคนมารอรับเลี้ยงดู ปูเสื่อ เพราะเขาเป็นนักเขียนหน้า 3 และ หน้า 1 ของ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก

ดังนั้นบทความของ “ฉลามเขียว” ผ่านการคิดมาแล้วรอบด้าน ความแม่นยำ ความแหลมคม ถูกนำเสนอผ่านสำนวนภาษาต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อเท็จจริง

ถ้าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ และ ผลกระทบจากสื่อออนไลน์  ทำไม ? หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฯลฯ ยังสามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าสื่อออนไลน์จะเป็นปัจจัยหลัก เพราะปัจจุบันหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ยังมีเว็บไซต์ www.banmuang.co.th โดยมีรายงานว่าผู้บริหารจะหันมาดำเนินธุรกิจสื่อออนไลน์ พัฒนาเว็บไซต์เป็นธุรกิจหลักแทน

ในบทความตอนหนึ่งของ “ฉลามเขียว”  ระบุว่า “ปัญหาทางการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโครงสร้างการเมืองที่ปิดกั้น ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาแข่งขัน ในวงการสื่อมวลชน” ซึ่งบรรทัดนี้เองสามารถตีความไปได้ต่างๆ นานา เพราะที่ผ่านมาเราเคยมีข่าวใหญ่ที่มีนักการเมืองสำคัญคนนึงเสียชีวิตกะทันหัน

ช่วงนั้น เดือนเมษายน 2559 บรรดานักข่าว ในกองบรรณาธิการเอง ต่างก็กังวลว่าทิศทางขององค์กรจะเป็นอย่างไรต่อไป และมีการคาดการณ์ต่างๆ ล่วงหน้า

และแล้ว ก็มาถึงวันที่แผงหนังสือ ไร้เงา  “หนังสือพิมพ์บ้านเมือง”  สิ่งพิมพ์เก่าแก่ 44 ปี ที่แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ ฉบับหนึ่ง แต่ก็มีอิทธิพลต่อหน่วยงานราชการต่างๆ เพราะข่าวทุกชิ้นต้องถูกฝ่ายประชาสัมพันธ์นำคลิปปิ้งข่าว  ( กฤตภาคข่าว ) นำเสนอ ไปสู่สายตานายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรี ตลอดจนปลัดกระทรวง อธิบดี  ข้าราชการทุกหน่วยงาน

ดังนั้น การปิดตัวของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง  สิ่งพิมพ์เก่าแก่ 44 ปี จะเป็นเพราะธุรกิจ หรือ ตามที่บทความของ “ฉลามเขียว” ได้เขียนขึ้นมา  หรือ ปิดตัวเพราอะไรกันแน่……สื่อมวลชนกระแสหลักมีคำตอบ และย่อมรู้ดีกว่าใครๆ  ?

ภาพจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

เรื่องน่าสนใจ