กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำชับ อสม. ทั่วประเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วงงานอื่นในชุมชน ประจำด่านชุมชน 26,220 ทั่วประเทศ ดูแลประชาชนช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11– 17 เมษายน 2560 ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดทั้งเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัย รัดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก การบังคับใช้กฎหมายในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่งทีมออกสำรวจชุมชน ร้านค้า งดขายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และสถานที่ห้ามขายสร้างความปลอดภัยให้แก่คนในชุมชนและผู้ที่ขับขี่บนท้องถนนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงของเทศกาลสงกรานต์ทุกปี เป็นช่วงที่มีประชาชนเดินทางกับภูมิลำเนาและมีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก และยังพบว่าวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ซึ่งกรม สบส. ได้ส่ง อสม. 326,396 คน ประจำด่านชุมชน 26,220 ทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ป้องกันการบาดเจ็บทางถนนในชุมชน
โดยจัดให้มีการแบ่งเวรดูแลช่วยเหลือประชาชนหมุนเวียนเฉลี่ยประมาณ 1-2 คนต่อจุดและลงบันทึกการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งส่งทีมลงพื้นที่สำรวจร้านค้าในชุมชนเพื่องดขายสุราให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามจำหน่ายในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ วัด โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขสถานที่ราชการ และร้านขายยา เป็นต้น โดยกำหนดให้ขายได้เฉพาะ 2 ช่วง คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะดำเนินการป้องปราม ว่ากล่าวตักเตือนและแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไว้เป็นข้อมูลต่อไป
หากพบผู้ขับขี่มีอาการมึนเมา อสม.ประจำด่านจะให้ผู้ขับขี่พักที่ด่านเพื่อให้หายจากอาการเมาสุรา หากเป็นประชาชนในพื้นที่จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เป็นการสกัดกั้นการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ขับขี่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหมวกนิรภัยขณะขับรถจักรยานยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร ไม่ขับรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในเขตเมืองและเขตเทศบาล โดยไม่เกิน 80 กม.ต่อชม.เขตนอกเมืองและเขตเทศบาล ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น
ด้าน นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 442 ราย บาดเจ็บ จำนวน 3,656 คน มีอุบัติเหตุ 3,447 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2558 แล้วพบผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
โดยมีผู้เสียชีวิต 78 ราย บาดเจ็บ 97 รายและมีอุบัติเหตุ 74 ครั้ง สาเหตุหลักเกิดจากการเมาสุรา ร้อยละ 34 รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19 ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์มากถึงร้อยละ 81 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ช่วงอายุ 20 – 49 ปี ร้อยละ 52 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 168 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 128 ครั้ง และจังหวัดอุดรธานี 111 ครั้ง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง คือ 1.นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 -9 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกัน 2 วัน 2.วางแผนการเดินทางไกล โดยให้ผู้ร่วมเดินทางผลัดเปลี่ยนกันขับรถ 3.ควรหยุดพักการขับรถทุก 150 กิโลเมตรหรือทุก 2 ชั่วโมง ลดอาการเมื่อยล้า 4.หากเกิดอาการอ้อนล่าหรือง่วง ควรจอดรถในที่ปลอดภัย เพื่อหลับพักผ่อนอย่างน้อย 15 นาที 5.รับประทานอาหารขบเคี้ยวหรือเครื่องดื่มที่ทำให้รู้สึกสดชื่น และ5.งดการดื่มสุราและหรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นในการเดินทาง ลดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เที่ยวอย่างมีความสุข