ผลการวิจัยล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเผยว่า บุหรี่เริ่มต้นสร้างสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ ตั้งแต่ ‘ครั้งแรก’ ที่เริ่มสูบ
สิงห์อมควันหรือผู้ที่คิดจะหันมาเข้าวงการนักสูบ คงต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่เสียใหม่ เมื่อรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยทางเคมีเกี่ยวกับพิษวิทยา เผยให้เห็นว่า บุหรี่สามารถกระตุ้นให้ร่ายกายสร้างสารก่อมะเร็งได้ตั้งแต่นาทีแรก โดยไม่ต้องรอให้ถึงปีแรกที่เริ่มสูบ
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ลักษณะการวิจัยครั้งล่าสุดนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากรูปแบบของการวิจัยครั้งก่อนๆ โดยเป็นการพุ่งประเด็นไปเฉพาะที่ตัวโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือพีเอเอช ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดมะเร็งในร่างกาย
โดยสารประกอบพีเอเอชจะเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่นการสูบบุหรี่ หรือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และเวลาที่มันเข้าไปอยู่ในร่างกาย เซลล์ภายในจะทำการแปลงองค์ประกอบของมัน กลายเป็นสารเคมีตัวใหม่อีกตัวหนึ่ง ซึ่งส่งผลร้ายต่อดีเอ็นเอในร่างกายของมนุษย์ และเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งตามมา โดยผลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างของอาสาสมัคร 12 คน พบว่า กระบวนการทั้งหมด ใช้เวลาเพียง 15 ถึง 30 นาทีของการสูบบุหรี่ ‘ตัวแรก’ เท่านั้น
ขณะที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้หวังว่า ผลของการวิจัย จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังคิดจะหันมาเริ่มสูบบุหรี่ โดยผู้คนส่วนมากมักคิดว่า การสูบบุหรี่นั้นต้องใช้เวลานานนับปีในกระบวนการที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ขณะที่ในความเป็นจริง กระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น