วิธีเลือกศัลยแพทย์ อย่างไรให้ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการผ่าตัด เมื่อเราอยากทำศัลยกรรม เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่ทุกคนก็ต้องเคยสงสัย ว่าเราควรจะมีข้อกำหนดอย่างไร หรือศัลยแพทย์ที่เรากำลังจะทำศัลยกรรมด้วยนั้น มีความน่าเชื่อถือแค่ไหนบ้าง ?
หลักการง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ คือการเลือกศัลยแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง แต่แน่นอนว่า สำหรับคนทั่วไปแล้ว ย่อมไม่ทราบว่าศัลยแพทย์คนใด มีความรู้ความสามารถอย่างที่เราหวัง เราจึงมีข้อแนะนำดีๆ มาฝากกันในบทความนี้ค่ะ
การผ่าตัด ก็คล้ายกับการขึ้นรถแท็กซี่ ถ้าเรารู้จักผู้ขับขี่ก็ดีไป แต่ถ้าไม่รู้จักผู้ขับขี่ เราคงต้องพยายามทำความรู้จัก นั่นก็หมายความว่า เราไม่ควรรีบตัดสินใจผ่าตัดรักษา จนกว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับศัลยแพทย์คนนั้นก่อน อาจต้องเดินทางไปพบปะพูดคุยกันมากกว่าหนึ่งครั้ง หากแพทย์ท่านั้นผ่านการฝึกอบรมในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง และเสริมสร้างมาอย่างถูกต้อง จนได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญ สาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง เราจะน่าจะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง เราจึงควรมองหาวุฒิบัตร หรือสอบถามจากทางแพทยสภา
เรื่องจรรยาบรรณก็สำคัญ เพราะศัลยแพทย์บางคนอาจจะฝึกอบรมมาจริง ได้รับวุฒิบัตรจริง แต่ประพฤติปฏิบัติในทางเสื่อมเสีย ใช้วิธีการผิดๆ หรือหลอกลวง ซึ่งทางสมาคมฯ จะไม่ยินดีให้เป็นสมาชิก ซึ่งเราก็สามารถติดต่อสอบถามกับทางสมาคมฯ ได้โดยตรงค่ะ
เวปไซต์ทางการของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย คลิก!!
เทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย กว้างขวาง และรวดเร็ว ในทางกลับกัน ข้อมูลมากมายดังกล่าว มีโอกาสทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดความสับสน ดังนั้น เราจึงควรเตรียมตัวดังนี้ค่ะ
เตรียมตัวหาข้อมูลในเรื่องที่ต้องการสอบถาม
เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องนั้นๆ และเตรียมคำถามก่อนพบแพทย์ เมื่อเกิดความคิดที่ต้องการทำศัลยกรรมตกแต่งในเรื่องใด สามารถหาข้อมูลความรู้ได้จากแหล่งต่างๆ ที่เชื่อถือได้ เช่น บทความเชิงวิชาการ ที่มีเหตุและผล มีข้อดีข้อเสียอยู่ในเนื้อหา การรับข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ถือเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่สามารถนำมาพิจารณา แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั้งหมด เพราะอาจจะมีความเชื่อ อารมณ์ และการชักจูงแอบแฝงได้
ตรวจสอบประวัติของแพทย์ และประสบการณ์ที่ผ่านมา
เราควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ให้มากที่สุด นอกจากจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากจากแพทยสภา เพื่อแสดงความเป็นแพทย์แล้ว ศัลยแพทย์ตกแต่งทุกคน จะมีวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรจากแพทยสภาด้วย นอกจากนี้ ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ผ่านการทำงานอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่ได้มีปัญหาใดๆ ในการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว และมาสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ก็จะมีรายชื่อที่ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม จะมีศัลยแพทย์ตกแต่งบางท่าน ซึ่งเป็นส่วนน้อย ที่ไม่ได้สมัครสมาชิกของสมาคมฯ หรือบางท่านอาจถูกถอดถอนออกจากการเป็นสมาชิก เราสามารถตรวจสอบกับสมาคมฯ ได้
สื่อสารความต้องการให้ชัดเจน ให้แพทย์เข้าใจตรงกัน
เป็นเรื่องปกติที่แพทย์ต้องการข้อมูลความชัดเจนของเรา เพื่อประเมินและวางแผนการผ่าตัด อาจจะใช้ภาพตัวอย่าง เพื่ออธิบายว่าชอบไม่ชอบอย่างไร แต่ไม่ใช่เลียนแบบ เพราะผลหลังผ่าตัดที่ดี จะเหมาะสมกับสภาพปัญหา หรือความต้องการของแต่ละราย มากกว่าการทำเพื่อเลียนแบบ เราควรสอบถามข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นต้องทราบ เช่น ข้อจำกัดของโครงสร้างตัวเอง ความคาดหวังผลที่จะได้ หรือผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้น รวมไปถึงการดูแลหลังทำ และแนวทางแก้ไขกรณีเกิดผลข้างเคียง
รับข้อมูลมาไตร่ตรอง
คิดรอบคอบก่อนทำ ไม่ใช่ว่าทำแล้วเกิดปัญหา บอกว่ารู้แบบนี้ไม่ทำดีกว่า เนื่องจากแพทย์แต่ละท่าน จะมีประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมองที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้รับ จึงไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายที่ต้องรีบด่วนตัดสินใจทำตามคำแนะนำในทันทีทันใด เมื่อมีความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ให้กลับมาทบทวนตั้งแต่ต้นใหม่อีกรอบ หรือสอบถามจากแพทย์ท่านอื่นๆ แล้วนำข้อดีข้อเสียทั้งหมด กลับมาถามตัวเองว่าสมมุตเกิดเรื่องที่แย่ที่สุด จะรับได้หรือไม่ ถ้าคิดว่ารับไม่ได้เลย ให้อยู่เฉยๆ จะไม่เกิดปัญหา หรือถ้าเกิดแล้วมีทางออกในแบบที่รับได้หรือไม่
••••••••••••••••••••••••••••••
ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ถึงกับยากจนเกินไป ถ้ามองทุกอย่างในแง่ดี อย่างน้อยที่สุดที่ควรจะได้รับ คือ ความสบายใจหลังทำ เพราะไม่มีทางที่ทำแล้วจะให้ทุกคนชอบทั้งหมด หรือมีโอกาสที่ไม่ได้ผลที่ต้องการทั้งหมด จากข้อจำกัดของโครงสร้างตัวเอง และไม่มีใครสรุปได้ว่า แพทย์คนใดเก่งที่สุด เชี่ยวชาญในเรื่องใดมากที่สุด หรือแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุด อาจจะไม่ได้ทำให้คุณเกิดความพอใจได้ อย่างไรก็ตาม เลือกแพทย์ที่เข้าใจสิ่งที่คุณต้องการ (ไม่ใช่ตามใจ) มีเวลาให้ตั้งแต่ก่อนทำ สามารถนัดติดตามผลหลังทำได้ จะดีที่สุดค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่