ศัลยแพทย์ประสาท เตือนผู้ปกครองหลังพบเคส “คอหัก” และ “อัมพาตทั้งตัว” ต้องรีบผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน สาเหตุเกิดจากการเล่น “แทรมโพลีน” เครื่องเล่นสปริงบอร์ดสุดฮิต และกำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทย
เครื่องเล่นสปริงบอร์ด หรือ “แทรมโพลีน” กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย แม้รูปแบบการเล่นจะดูไม่อันตราย แต่แท้จริงแล้วมีข้อควรระมัคระวัง หากผู้เล่นไม่ชำนาญอาจได้รับอันตราย ถึงขั้นอวัยวะหักหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต เช่นกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
เคสนี้ได้รับการเปิดเผยและแจ้งเตือนจาก นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ประสาทชื่อดัง หลังได้รับเคสผู้ป่วยเด็กอัมพาต จากการเล่นแทรมโพลีน ซึ่งเคสนี้ถือว่าผู้ป่วยอาการค่อนข้างรุนแรง ต้องทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันช่วงเวลาทอง เนื่องจากกระดูกคอเคลื่อนไปทับกระดูดสันหลัง ส่งผลต่อการหายใจของผู้ป่วยด้วย อาการในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะพบกับ ผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ป่วยอายุยังน้อยและมีโอกาสฟื้นตัวได้ดี แต่จากการประเมินคิดว่าการจะกลับไป สมบูรณ์ 100 % เหมือนเดิมคงไม่ง่ายนัก จึงอยากแจ้งเตือนผู้ปกครองทั้งหลายว่า คิดให้ดีก่อนจะให้ลูกไปเล่นเครื่องเล่นชนิดนี้ ในต่างประเทศมีการแจ้งเตือนอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
โดยในประเทศออสเตรเลียมีการออกกฎหมายควบคุม แต่สำหรับประเทศไทยยังเห็นการแจ้งเตือนน้อยมาก ทว่าจากการบอกเล่าของเพื่อนแพทย์ด้วยกันพบว่า แนวโน้มผู้บาดเจ็บจากสาเหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันเฟสบุ๊คแฟนเพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว ได้โพสต์ข้อความแจ้งเตือน 5 สิ่งควรรู้ก่อให้ลูกเล่นแทรมโปลีน ระบุว่า ปัจจุบัน แทรมโพลีน เป็นอุปกรณ์ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เริ่มมีการเอาไปตั้งไว้ในสวนสนุกทั้งในรูปแบบกลมๆ หรือแบบที่เป็นสนามกว้างๆ ซึ่งหลายคนมองว่ามันคืออุปกรณ์ที่น่าสนุกและไม่น่าจะอันตรายอะไร ทั้งที่จริงเป็นเครื่องเล่นที่มีอันตรายได้ในระดับหนึ่งเลย
อันตรายในระดับที่ว่า ทาง American Academy of Pediatrics เตือนว่าไม่แนะนำให้เด็กเล่นเครื่องเล่นนี้ ต่อไปนี้คือข้อมูลที่ให้ลองพิจาณาดู
1 การบาดเจ็บโดยมาก เกิดกลางเครื่องเล่นที่ตัวเด้งๆ ส่วนน้อยเกิดจากการเด้งหลุดตกออกไป … คือไม่ต้องมีอะไรผิดพลาดมาก เล่นพลาดบนเครื่องเล่นก็เจ็บตัวได้
2. การบาดเจ็บส่วนมากเกิดกับการเล่นหลายคน เกิดจากการที่มีเด็กหรือคนอื่นมากระแทกหรือชนตอนลอยอยู่แล้วตกลงมาเจ็บ ดังนั้นต่อให้ระวังเต็มที่แต่คนอื่นไม่ระวังเราก็เจ็บหนักได้ 3. การบาดเจ็บรุนแรงมักเกิดในเครื่องเล่นส่วนตัวหรือเล่นคนเดียว เพราะมีการเล่นท่าตีลังกาตกลงมาก็หัก
4. พื้นยางนุ่มๆ แต่ก็เพีงพอที่จะทำให้แขนขาหรือคอหักได้ ถ้าระยะที่ตกลงมาสูงมากพอ 5. อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ได้ช่วยลดการบาดเจ็บมากนัก ที่จริงในสหรัฐ พบว่าการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าในช่วง 4-5 ปีนี้ด้วยซ้ำ
สำหรับคนที่จะไปซื้อมาไว้ที่บ้านให้ลูกเล่น ลองพิมพ์คำว่า Trampoline fail หรือ Trampoline gone wrong ใน youtube ครับ แล้วจะรู้ว่าอันตรายแค่ไหน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Methee Wong และ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว