ที่มา:
tnnthailand
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสตรีอยู่ในช่วงวัยทอง อายุ 45-59 ปี ประมาณ 7 ล้านคน (ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ปี 2557) และจากการสำรวจภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในผู้หญิงไทยที่มีอายุ 45-59 ปี ของสำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย ปี 2554 พบว่าร้อยละ 28 มีความเสี่ยงสูงต่ออาการวัยทองและร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว โรคที่พบมาก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
ทั้งนี้ อาการวัยทอง ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน แต่เมื่อมีอาการแล้วอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับชีวิตคู่หรือครอบครัวได้ เนื่องจากมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย ความต้องการทางเพศลดลง ดังนั้นการดูแลสุขภาพแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ คือ
- รับประทานอาหารประเภทแคลเซียมเพิ่มขึ้น อาทิ ผักใบเขียว ทุกชนิด งาขาว งาดำ นม ปลาเล็กปลาน้อย เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน อาทิ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ถั่วแดง ฟักทอง กะหล่ำปลี บร็อกโคลี แครอท ข้าวกล้อง ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- ลดอาหารประเภท แป้ง อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เพราะอาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น รวมทั้งเป็นการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ หรือกีฬาที่ชื่นชอบ เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่า หรือการออกกำลังกาย ที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมาก จนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความจำ มีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว
- ศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ
- หมั่นดูแลน้ำหนักตัว ให้อยู่ ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีความหลากหลายและ พอเหมาะ
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้เอื้อต่อสุขภาพ
- มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆ
- รู้จักผ่อนคลาย ความเครียดอย่างเหมาะสม
- ดำรงตน ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม