กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มบทบาทคุ้มครองประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพผ่านสื่อทุกแขนง เร่งผลักดันร่างแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูล ข่าวสารและความรู้ด้านสุขภาพ พ.ศ. 2559-2563 ฉบับแรกของประเทศ ให้เป็นวาระชาติ ครอบคลุมงานกำกับ ตรวจสอบ กรองข้อมูล เฝ้าระวังภัยโฆษณาแฝงโดยตรง เผยผลเฝ้าระวังสื่อ ในปี 2558 พบโฆษณาสินค้าสูงถึงร้อยละ 91 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม-ลดความอ้วน ให้ความรู้จริงๆน้อยมากเพียงร้อยละ 8
เช้าวันนี้( 26 กุมภาพันธ์ 2559 ) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดประชุมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสื่อมวลชน เพื่อพิจารณา ทบทวนร่างแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูล ข่าวสารและความรู้สุขภาพ พ.ศ. 2559-2563 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอต่อการนำไปปรับใช้ดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน ป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า ในปีนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เพิ่มบทบาทภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อมูลข่าวสารสุขภาพด้วย จากเดิมที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพและการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากขณะนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพประชาชนได้ทั้งบวกและลบ โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารสุขภาพ และกำหนดให้เป็น 1 ใน 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพที่จำเป็นต้องมี เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากความรู้จะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่มีมาแต่ในอดีต เช่น การกินไข่ขณะเป็นแผล ทำให้แผลไม่สวย เป็นต้น ทั้งๆที่ข้อเท็จจริง ไข่มีประโยชน์ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อยอดนิยม 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวี และสื่อออนไลน์ ในปี 2558 โดยกองสุขศึกษา พบว่าข้อมูลที่นำเสนอร้อยละ 91 เป็นการโฆษณา นำเสนอข้อมูลเพื่อให้ความรู้มีน้อยเพียงร้อยละ 8 เมื่อพิจารณาในประเด็นประเภทของข้อมูล พบว่า เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ร้อยละ 87 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม-ลดความอ้วน
รองลงมาคือข้อมูลเรื่องการรักษาโรคร้อยละ 7 ข้อมูลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ร้อยละ 4 และข้อมูลบริการสุขภาพร้อยละ 2 โดยสื่อที่มีการโฆษณาสูงสุด คือ ทีวีและอินสตราแกรม ร้อยละ 95-99 ส่วนสื่อที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 66 ส่วนใหญ่มาจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จากการคาดการณ์แนวโน้มกระแสสื่อออนไลน์นับวันจะรุนแรงขึ้นและเข้าถึงตัวประชาชนได้ง่ายผ่านทางมือถือ ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีผู้ใช้มือถือ ประมาณ 49 ล้านคน กรมสบส.จึงได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านนี้โดยเฉพาะ และเร่งผลักดันให้เป็นวาระชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสมัยและมีระบบคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม
ทางด้านนายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว มี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
หลังจากพิจารณาปรับแก้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ในวันนี้แล้ว ขั้นต่อไปจะทำประชาพิจารณ์ในภาคประชาชนส่วนรวม และนำเสนอครม.เพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 5 เดือน