ที่มา: dodeden

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (จิสด้า) จัดสัมมนา “อวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ Space : Infinite Assets for All Humankind” เพื่อเผยแพร่โครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง National Space Exploration (NSE)

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันการสำรวจอวกาศและการทดลองต่าง ๆ ในอวกาศเป็นสิ่งสำคัญในศึกษาและเรียนรู้ปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถพบหรือสร้างได้บนพื้นโลก เช่น การปลูกผลึกที่สามารถเติบโตได้ในทุกทิศทาง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือคุณสมบัติของของไหลที่เปลี่ยนไปเมื่อแรงโน้มถ่วงลดลง

ในอดีต ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการศึกษาด้านนี้ และยังไม่มีนโยบายด้านการสำรวจอวกาศที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจึงได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติปี 2560 – 2579 ขึ้น ให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาด้านอวกาศระยะยาวที่ชัดเจนครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาบุคลากร และการใช้ประโยชน์จากอวกาศ

โดยที่ผ่านมา จิสด้า และ สวทช. ร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนความก้าวหน้าด้านอวกาศในหลายๆ ด้าน อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากในอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศได้สร้างผลพวงเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากมายให้กับมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม กล้องถ่ายรูปดิจิทัล อุปกรณ์ไร้สายต่างๆ

“การวางแผนด้านอวกาศจึงเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการรับมือต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้การเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ การทดลองงานวิจัยในอวกาศ หรือสร้างมนุษย์อวกาศตั้งแต่ตอนนี้ ก็เพื่อที่จะได้ร่วมแชร์อรรถประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากอวกาศ โดยเฉพาะทรัพยากรความรู้ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ได้มากมายให้กับประเทศของเราได้ในอนาคต” ดร.อานนท์ กล่าว

 ด้าน ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ สวทช. ได้ร่วมมือกับ จิสด้า ดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยลักษณะของโครงการคือ เปิดรับแนวคิดของเยาวชน มาสร้างเป็นการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างง่าย

เช่น การโค้งของผิวของเหลวชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้รับการนำไปทดสอบโดยมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) และเพื่อเป็นการต่อยอดแนวทางการทดลองในอวกาศของประเทศไทย โครงการ National Space Exploration : NSE จึงได้ก่อตั้งขึ้นและดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สทอภ. และ สวทช.

โดยยกระดับแนวความคิดจากเยาวชนขึ้นมาเป็นระดับนักวิจัย เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีศักยภาพและมีความต้องการทำการทดลองในอวกาศ สามารถนำไปขยายผลต่อยอดงานวิจัย เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมอวกาศใหม่ๆ ในอนาคต และเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติด้านการวิจัยและสำรวจห้วงอวกาศ โครงการ NSE ในระยะยาวจะนำไปสู่ภารกิจ Manned Space Program หรือโปรแกรมนักบินอวกาศ และเป็นก้าวแรกของการสำรวจอวกาศต่อไปในอนาคต”

“งานสัมมนาอวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ หรือ Space : Infinite Assets for All Humankind ในวันนี้ ผู้ร่วมงานจะได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการดำเนินกิจการด้านการศึกษาอวกาศในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

รวมถึงประสบการณ์การสำรวจและการทดลองงานวิจัยในอวกาศจากองค์กรอวกาศชั้นนำจากต่างประเทศ อาทิ แคนาดา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา และรัสเซีย ตลอดจนการระดมสมองเพื่อผลักดันการศึกษาและการวิจัยในอวกาศเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าว

ทั้งนี้ ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ National Space Exploration สทอภ. กล่าวว่า “แนวทางการวิจัยที่ทางโครงการต้องการ สามารถเป็นการทดลองในหลายสาขา เช่น ฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ที่ต้องการดำเนินการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือในอวกาศ โดยที่ไม่เคยมีผู้ใดทำการทดลองมาก่อน โดยผู้ได้รับการคัดเลือกในกิจกรรม National Space Experiment 2017 จะได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัย และมีโอกาสเดินทางไปดูงานกิจการอวกาศขององค์กรอวกาศต่างประเทศ สามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ http:// www.nstda.or.th/nse

และหากต้องการส่งบทคัดย่อการทดลอง เพียงกรอกแนวความคิดการทดลองลงในแบบฟอร์มบทคัดย่อจากเว็บไซต์โครงการ แล้วส่งมาที่ [email protected] เพื่อคณะกรรมการพิจารณาต่อไป ทางโครงการมีงบประมาณบางส่วนที่พร้อมสนับสนุนการเตรียมอุปกรณ์การทดลอง และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการนำการทดลองขึ้นไปบนอวกาศ” ดร.อัมรินทร์ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ