เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณถนนสาย 1148 ที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กับ อ.สองแคว จ.น่าน มีต้นไม้สีเหลืองที่ออกดอกสะพรั่งอร่ามงดงามเต็มสองข้างทาง โดยเฉพาะบริเวณหน้าแขวงการทางเชียงคำ หมวดการทางเชียงคำ และสำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) ฝายกวาง ท้องที่บ้านทุ่งหล่ม หมู่ 10 ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร บานรับแสงแดดอย่างงดงามตลอดวัน นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา พบเห็นแล้วต้องจอดรถถ่ายรูปกันอย่างมาก
นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล นายอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า ถนนสายดอกไม้เหลืองอินเดียดังกล่าวสวยงามมาก เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น ต้องขอบคุณหน่วยงานและบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการปลูกในครั้งแรก ทำให้ ต.ฝายกวาง มีธรรมชาติที่เป็นของดีเมืองเชียงคำ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของ อ.เชียงคำ สำหรับในระยะยาวคงต้องหารือกับ ทต.ฝายกวาง ถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์ เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเหลืองอินเดียบานต่อไป
พ.อ.อ.สมเศียร จันทร์หล้า ปลัดเทศบาลตำบล (ทต.) หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เปิดเผยว่า ต้นเหลืองอินเดียเพาะโดยหมวดการทางพะเยา และร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฝายกวาง ในปี 2540 เมื่อครั้งตนยังทำหน้าที่ปลัด อบต.อยู่ ได้ปลูกริมข้างถนนทุกสายในพื้นที่ ต.ฝายกวาง ซึ่งบุคคลต้นคิดคือนายทวีศักดิ์ สติราษฎร์ อดีตนายก อบต.ฝายกวาง ในสมัยนั้น ได้หารือร่วมกับผู้นำ ต.ฝายกวาง เรื่องการปรับภูมิทัศน์ของ อบต.ให้สวยงาม โดยเฉพาะหาดอกไม้สีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำตำบล เป็นดอกไม้ใดก็ได้ขอให้มีความคงทนต่อสภาพอากาศทุกฤดูกาล จึงหารือกับทางหมวดการทางเชียงคำที่ได้ช่วยเหลือ ด้านการจัดหาเมล็ดพันธุ์และเพาะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในครั้งนั้น ต้นเหลืองอินเดียปลูกง่าย เป็นต้นไม้ที่ทนทานต่อสภาพอากาศหนาว แล้ง ปลูกประมาณ 5 ปี ก็ออกดอกสีเหลืองสดอย่างงดงาม
ปลัด ทต.หย่วน กล่าวต่อว่า จุดที่พบเห็นดอกเหลืองอินเดียได้หนาแน่นและโดดเด่น คือ ช่วงถนนสาย 1148 ตั้งแต่สามแยกบ้านทุ่งหล่มที่ผ่านหน้าสำนักงาน ทต.ฝายกวาง ในปัจจุบัน อยู่ตรงข้ามกับแขวงการทางเชียงคำ และหมวดการทางเชียงคำ ระยะทาง 1 กม. ดอกเหลืองอินเดียจะเริ่มบานประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และอยู่นาน 2 สัปดาห์ จะผลัดกันบาน คือ ส่วนที่บานก็บานแล้วร่วงไล่กันไปนานประมาณ 1 เดือน จะสังเกตพบว่าปีไหนที่อากาศหนาวมาก หนาวจัด แล้งมาก ต้นเหลืองอินเดียจะออกดอกหนาแน่นกว่าทุกปี เพราะจะออกดอกหลังจากที่ใบร่วงหมดทั้งต้น เป็นต้นไม้ที่สื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสภาพอากาศด้วย หลังจากเหลืองอินเดียเริ่มร่วงหมดไป ต้นเดือนมีนาคมก็จะมีดอกตะแบกเป็นสีชมพูอ่อนผลิบานขึ้นมาแทนรับช่วงต่อไป
ประชาชนชาว ต.ฝายกวาง เพิ่มเติมข้อมูลว่า ต้นเหลืองอินเดียก่อนที่จะบานฝักจะแตกและร่วง จากนั้นดอกก็จะผลิและบานตามมา ช่วงที่ฝักแตกไม่ควรเข้าใกล้เพราะฝักมีขนหากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน แต่ดอกสีเหลืองไม่มีอันตรายใด ๆ จับต้องได้ ซึ่งเมื่อดอกร่วงจะเห็นเป็นสีเหลืองทั่วพื้น ทั้งพื้นและบนต้นเหลืองแข่งกันอย่างงดงาม