รายงานประจำปีด้านการพัฒนาน้ำระดับโลกของสหประชาชาติระบุว่า หากทั่วโลกยังไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ เพื่อการใช้งานอย่างยั่งยืน ภายในปี 2030 ประชากรโลกกว่าร้อยละ 40 อาจจะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำ
สหประชาชาติเปิดเผยรายงานประจำปีด้านการพัฒนาน้ำระดับโลก ซึ่งเนื้อหาหลักของรายงานประจำปีนี้ ระบุว่า หากยังไม่มีการปฏิรูประบบบริหารจัดการน้ำ ในอนาคต โลกจะเผชิญกับความแห้งแล้ง ซึ่งภายในปี 2030 ประชากรโลกกว่าร้อยละ 40 จะพบกับวิกฤตขาดแคลนน้ำ
ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ใช้อยู่บนโลก จะเพียงพอกับความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งก็คือ น้ำที่ใช้อยู่เหล่านี้ ขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยรัฐบาลทั่วโลก ควรร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการใช้งานอย่างยั่งยืน
อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตกอยู่ในภาวะวิกฤตในอนาคต ก็คือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันประชากรโลกมีทั้งหมดประมาณ 7,300 ล้านคน และเพิ่มขึ้นกว่า 80 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ภายในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,100 ล้านคน
โดยภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุดกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้น้ำทั่วโลก จะต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อลดการใช้น้ำลงให้เหลือร้อยละ 60 ให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ความต้องการใช้น้ำทั่วโลกจะเพิ่มเป็นร้อยละ 55 เพื่อตอบสนองกับการขยายความเจริญไปสู่ชนบท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ในหลายเมืองใหญ่ จะมีการขุดหาแหล่งน้ำใต้ดินกันมากขึ้น หรือมิเช่นนั้น ก็คงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด
ในรายงานฉบับนี้ ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำอีกหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไปจนถึงการปนเปื้อนของน้ำ โดยเฉพาะจากแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ถูกสูบขึ้นมาใช้เพื่อการบริโภค ซึ่งพบว่า กว่าร้อยละ 20 ของน้ำจากใต้ดินที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น มีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ด้วย