สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทแห่งหนึ่งสหรัฐฯได้สร้างรูปแบบการขนส่งใหม่ในลักษณะแท็กซี่ลอยฟ้า และเตรียมจะถูกนำไปใช้ในประเทศอิสราเอล และถือเป็นครั้งแรกที่มีระบบการขนส่งเช่นนี้เกิดขึ้นในโลก และง่ายกว่าการสร้างทางรถไฟและรถไฟฟ้าใต้ดิน
รายงานระบุว่า บริษัท”สกายทราน”ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้พัฒนาโปรเจ็กต์นี้ หรือแท็กซี่ลอยฟ้า ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนบนทางยกระดับ ด้วยพลังงานแม่เหล็ก อยู่เหนือระดับพื้นดิน 20-30 ฟุต โดยใช้เวลาสร้างมากว่า 5 ปี และกำหนดจะเปิดใช้เป็นครั้งแรกในกรุงเทล อาวีฟ ของอิสราเอล ในสิ้นเดือนนี้
โดยระบบแท็กซี่ลอยฟ้านี้ จะใช้งานในบริเวณแผนกอุตสาหกรรมอวกาศการบิน ซึ่งเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการนี้ด้วย โดยเบื้องต้น จะมีแท็กซี่ลอยฟ้าเพียง 2 คัน ใช้สำหรับบรรทุกผู้โดยสาร 4 ราย สามารถเดินทางเร็วสูงสุดราว 60 ไมล์ต่อชั่วโมง และสกายทราน หวังว่าจะเพิ่มจำนวนแท็กซี่ลอยฟ้าได้อีกหลายคัน โดยหากโครงการนี้ไปได้สวย บริษัทคาดว่าจะขยายเส้นทางวิ่งในอีกอย่างน้อย 3 เมืองในอิสราเอล และในบางเมืองของสหรัฐฯ ก่อนปี 2018
สำหรับการขนส่งรูปแบบนี้ ถือว่ามีจุดเด่นที่ราคาถูก และง่ายต่อการสร้างยิ่งกว่าทางรถไฟและรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยเฉพาะระบบหลัง มีงบประมาณสร้างเฉลี่ยถึง 100-2 พันล้านดอลลาร์ ต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่การสร้างรถไฟ ก็ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์การขนส่งที่แพง กินพลังงาน จากลักษณะโครงสร้างทางสาธารณูปโภคที่ใหญ่โต
ขณะที่ทางวิ่งแท็กซี่ลอยฟ้านี้ ใช้งบประมาณสร้างเพียง 8 ล้านดอลลาร์ต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่ตัวเครื่องแท็กซี่ มีงบประมาณราว 25,000-30,000 ต่อคัน และบริโภคใช้พลังงานแบบรถระบบไฮบริดเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ถือว่า รถแท็กซี่ลอยฟ้าเป็นโครงการที่เหมาะสมมากสำหรับเมืองใหญ่ ๆ