เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ประชุมผู้แทน 3 กองทุน และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารือนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” แนวทางการดำเนินงานเพื่อปรับระบบให้เกิดประโยชน์กับประชาชน หลังจากที่ผ่านมามีปัญหาโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บเงินสำรองจ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงบังคับให้มีการเซ็นต์รับสภาพหนี้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” เป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยและเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการมาเกือบ 5 ปีแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายได้มีความพยายามปรับในสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ ขณะนี้ 3 กองทุนทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีความเห็นตรงกันเรื่องระบบเบิกจ่ายที่เหมาะสม ตามราคากลางค่ารักษาพยาบาล ( Fee schedule) แต่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนนั้นยังต้องมีการตกลงกันในเรื่องราคากลางสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่รับกันได้ทุกฝ่าย ซึ่งจะหารือกันในช่วงเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ต้องกังวล สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งได้เช่นเดิม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่วงหน้าในโรงพยาบาลเอกชน
“ขณะนี้ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำงานเชิงรุกในการเป็นผู้ประเมินเพื่อวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ประสานระหว่างโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ให้การรับผู้ป่วย การส่งตัวผู้ป่วย การจัดหาเตียงหลัง 72 ชั่วโมง ส่วนเรื่องระบบเบิกจ่ายที่เหมาะสมตามราคากลางค่ารักษาพยาบาลนั้น จะได้นัดหารือกันอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ หากมีข้อสงสัยโทรถามสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนรับทราบและจะแจ้งนโยบายรัฐบาลให้แก่โรงพยาบาลเอกชนต่างๆต่อไป” นพ.ปิยะสกลกล่าว
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเรตการรักษา อาจะเป็นเพราะมีระยะเวลาในการทำสั้น เลยไม่มีจุดลงตัว เพราะการออกมาอย่างนี้จะไปกระทบกับเสรีด้านอื่นๆ เช่น การทำประกันชีวิต ชาวต่างชาติ เป็นต้น ดังนั้นจะต้องมีการออกแบบควบคู่กันไป ไม่ต้องรีบร้อน อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ ถึงจะไม่ได้กำไรแต่ก็ต้องไม่ให้เข้าเนื้อ ซึ่งเบื้องต้นตนได้แจ้งผ่านช่องทางการสื่อสารให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนได้ทราบแล้วว่ากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตช่วงสงกรานต์นั้นจะต้องไม่เก็บเงินมัดจำจากผู้ป่วย ดังนั้นผู้ที่ไม่มีเงินก็ไม่ต้องจ่ายมัดจำ แต่ถ้าใครที่พอมีฐานะก็อยากให้จ่าย