นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดูแลโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มงวด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคในประเทศไทยก็ตาม ได้มีมาตรการรองรับ 5 ข้อดังนี้
1. การป้องกัน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พร้อมเพิ่มมาตรการ 5 ส. โดยกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงงาน บ้าน ชุมชน โรงเรียน และวัด ดำเนินการทุกวันศุกร์ ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้บุคลากรกลับไปดำเนินการที่บ้าน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ หน่วยราชการอื่นๆ และประชาชนร่วมมือรณรงค์ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อป้องกันควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
2. การเฝ้าระวังและตรวจจับ จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจะเฝ้าระวังพิเศษเข้มข้นใน 5 กลุ่ม คือ
1. ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง
2. หญิงตั้งครรภ์ที่มีไข้ออกผื่น
3. กลุ่มไข้ออกผื่นเป็นกลุ่มก้อน
4. เด็กแรกคลอดที่มีหัวเล็ก และ
5.กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงไป รวมทั้งมีอาการที่เข้าข่ายป่วย คือ มีไข้ออกผื่น ปวดข้อ ตาแดง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลและด่านควบคุมโรคที่สนามบินเฝ้าระวังตรวจจับ สอบสวนและดูแลรักษา เพื่อควบคุมไม่ให้แพร่กระจายโรคออกไป
3. การดูแลรักษาตามอาการ ได้กำชับให้แพทย์สั่งยาทากันยุงให้ผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ยุงกัด หากมีการแพร่ระบาดจะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ออกไปในชุมชน เพื่อทำลายยุงตัวแก่และลูกน้ำในรัศมี 100 เมตรจากบ้านผู้ป่วยออกไป พร้อมสอบสวนโรค ซักประวัติในเบื้องต้น หากเข้าข่ายจะเก็บเลือดและปัสสาวะส่งตรวจต่อไป
4. การควบคุมป้องกันโรค ใช้มาตรการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก โดยพ่นสารเคมีฆ่ายุงลายตัวแก่ รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร รวมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลาย
5. การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องโรค กลุ่มเสี่ยง ให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย หากทุกคนร่วมมือกันป้องกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาทอง 2 เดือน ตั้งแต่วันแห่งความรักถึงวันสงกรานต์ เชื่อว่าจะสามารถลดประชากรยุงก่อนถึงช่วงโรคระบาดในฤดูฝนได้