นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เร่งพัฒนาคุณภาพบริการห้องฉุกเฉินหรืออีอาร์ รองรับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดภาวะแทรกซ้อน การเสียชีวิต ความพิการให้ได้มากที่สุด
ภาพจากกระทรวงสาธารณสุข
โดยมีหลักในการพัฒนาดังนี้ 1.การดูแลภาวะฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลด้วยทีมกู้ชีพฉุกเฉินที่มีคุณภาพ 2. การดูแลภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล ด้วยระบบริหารจัดการ ประสิทธิภาพเครื่องมือแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉิน
กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมการแพทย์ ร่วมกับราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องต่างๆเช่น ราชวิทยาลัยศัลยศาสตร์ ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ ร่วมพัฒนาห้องฉุกเฉิน หรือห้องอีอาร์ ให้เป็นห้องอีอาร์คุณภาพ ทั้งมีระบบการบริหารจัดการ คัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจน
โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินหรือแพทย์ที่สนใจด้านฉุกเฉินเป็นผู้บริหารจัดการในห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ต้องจัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมประเมินผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งจัดระบบทางด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคเร่งด่วนที่ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว อาทิ อุบัติเหตุ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งกรมการแพทย์ได้ออกเกณฑ์การประเมิน10-12 ข้อ เพื่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ประเมินและปรับปรุงตนเองให้ได้ตามเกณฑ์
จากการตรวจเยี่ยมห้องอุบัติเหตุของ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นรพ.รองรับประชาชนเขตเมืองในจังหวัดนนทบุรีและใกล้เคียง พบว่า มีศูนย์บริหารจัดการอุบัติเหตุและฉุกเฉิน มีระบบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตโดยการรวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์
และส่งมอบข้อมูลเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้บาดเจ็บแบบครบวงจรพัฒนาระบบการดูแลด้วยระบบ Trauma Fast track และ Head injury ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง เพื่อช่วยชีวิตและป้องกันความพิการจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับ รพ.ในจังหวัดนนทบุรีนั้นได้อยู่ในระหว่างการประเมินและปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์
ทั้งนี้ ผู้มารับบริการที่ ER โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าปี 2559 จำนวน56,352คน เฉลี่ย 4,696 คน/เดือนเฉลี่ย 157 ราย/วัน ประมาณ 30 % เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้ครอบคลุมได้เร่งพัฒนาให้ประชาชนในแหล่งชุมชนและมีความรู้สามารถใช้เครื่องกระตุกหัวใจ หรือเออีดี ได้ ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินด้านโรคหัวใจได้รับการช่วยเหลือทันที