นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ทรงมีพระปณิธานเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาท ว่า “ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ”
โดยมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย และเนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 รัฐบาลเห็นสมควรขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” โดยมี คณะกรรมการจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ
ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2556-2558 พบปัจจัยสำคัญของผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า คือ การไม่ดูแลรักษาบาดแผลหลังสัมผัสโรค ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน และยังพบว่าผู้สัมผัสโรคทั้งหมดจะเสียชีวิตหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 1 ปี
โดยข้อมูลในปี 2558 จากกรมควบคุมโรค ได้สำรวจความรู้และทัศนคติของประชาชนเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 3,024 ตัวอย่าง พบประชาชนมีความรู้ความเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เช่น คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาได้ ร้อยละ 32.4 มีการล้างแผล ใส่ยา ไปหาหมอเมื่อถูกสัตว์กัดข่วน ร้อยละ39.6
ทั้งนี้ในปี 2559 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 15 รายซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย นอกจากนี้ยังพบสถานการณ์โรคในสัตว์มีความรุนแรงมากขึ้น และมีพื้นที่ 3 กลุ่มจังหวัดที่พบโรคพิษสุนัขบ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นได้แก่ 1.กรุงเทพมหานครและจังหวัดในภาคตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพ 2.กลุ่มจังหวัดสงขลาและพื้นที่รอบจังหวัดสงขลา 3.กลุ่มจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า เพื่อสนองพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ตามมาตรการเชิงรุกป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2560
โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการด้านการป้องกันโรค เช่น ทำแผนป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เสี่ยงและพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค ระบบข้อมูลให้มีความครอบคลุมรวมไปถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับมีความรู้ในการวินิจฉัยดูแลผู้สัมผัสโรคอย่างถูกต้อง 2.มาตรการด้านค้นหาและตรวจจับความผิดปกติ
เช่น ค้นหาติดตามผู้สัมผัสโรคให้มารับการฉีดวัคซีนทุกรายภายใน 48 ชั่วโมงและใช้มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่กำหนด ร้อยละ 100 หลังสัมผัสโรค 3.มาตรการด้านตอบโต้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
เช่น กรณีพื้นที่ตรวจพบผู้ป่วยสงสัยหรือเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าหรือหัวสัตว์ให้ผลบวกต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรีบลงพื้นที่เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคร่วมกันโดยการบูรณาการของแต่ละหน่วยงานร่วมกัน เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต สสจ. สสอ. รพ.สต อสม. วิทยุชุมชน รวมไปถึงสื่อท้องถิ่น