นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภค ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ 77 จังหวัด ภายใต้โครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2558 ระหว่างเดือนธ.ค.57-ก.ค.58 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เป็นผู้รับผิดชอบเก็บตัวอย่างจากแหล่งผลิตและนำส่งตรวจวิเคราะห์ ที่ห้องปฏิบัติการในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4,750 ตัวอย่าง จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่างและน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง
นพ.อภิชัยกล่าวต่อว่า น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็ง จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทควบคุมเฉพาะ มีกฎหมายควบคุมตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย และการแสดงฉลากต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2527) เรื่องน้ำแข็ง ผลจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง 4,750 ตัวอย่าง พบว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐาน 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4
จากข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และน้ำแข็งไม่ได้คุณภาพคือ ด้านกายภาพและด้านจุลินทรีย์ ด้านกายภาพ ได้แก่ ค่าความเป็น กรด-ด่าง สูงหรือต่ำกว่าค่ากำหนด มาตรฐานกำหนดระหว่าง 6.5-8.5 สาเหตุอาจมาจากคุณภาพน้ำดิบหรือวิธีผลิตไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาด้านจุลินทรีย์ มาจากการพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน รองลงมาคือพบเชื้ออีโคไล ซึ่งเป็นจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะของการผลิตที่ไม่เหมาะสม ส่วนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ พบเล็กน้อย โดยผู้บริโภคควรเลือกซื้อน้ำดื่มและน้ำแข็งที่บรรจุในภาชนะสะอาดปิดสนิท ฉลากต้องระบุเลข อย. ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต น้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองน้ำก็ควรเปลี่ยนไส้กรองน้ำตามเวลาที่กำหนด