ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สธ.ประสาน ศธ.-มท.-พม. สั่งหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเฝ้าระวัง “โรคมือ เท้า ปาก” ช่วงฤดูฝน เน้นศูนย์เด็กเล็ก ร.ร.อนุบาล เผยในรอบ 6 เดือนป่วยแล้วกว่า 15,000 ราย กำชับครูตรวจดูอาการเด็กทุกวัน

14385848381438584856l

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า โรคมือ เท้า ปาก จะพบการระบาดมากในช่วงหน้าฝนคือเดือนกรกฎาคม-กันยายน เนื่องจากสภาพอากาศชื้นและเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่าย

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วยทุกจังหวัดรวม 19,471 ราย เสียชีวิต 1 ราย กระจายในทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากที่สุดคืออายุ 1-3 ขวบ ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด อายุต่ำสุดคือต่ำกว่า 28 วัน จำนวน 6 ราย จังหวัดที่มีป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก คือ น่าน เชียงราย พะเยา อุบลราชธานี และแม่ฮ่องสอน

นพ.รัชตะกล่าวอีกว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว สธ.ได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฝ้าระวังดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญคือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศดำเนินการในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองให้ดูแลป้องกันโรค เช่น ดูแลความสะอาดเครื่องเล่นเด็ก ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เป็นต้น และให้ครูตรวจวัดไข้และตรวจมือเท้าเด็กทุกเช้า

หากพบมีไข้หรือมีตุ่มใสขึ้นที่มือ ในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคดังกล่าว ให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไป และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาด และให้เด็กหยุดเรียนพักที่บ้านจนกว่าจะหาย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยและรุนแรงคือเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) ติดต่อกันจากมือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองหรือแผล และอุจจาระของผู้ป่วย เข้าสู่ปาก

เด็กที่ติดเชื้อมักจะมีไข้และมีตุ่มพองในปาก ที่ฝ่ามือหรือผิวหนัง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาเฉพาะ การดูแลรักษาจะเน้นบรรเทาอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาทาแก้เจ็บแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม เช็ดตัวเด็กเป็นระยะ และให้เด็กกินอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด

ห้ามดื่มน้ำเย็นหรือไอศกรีม และให้นอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนให้ป้อนนมแทน ทั้งนี้ ล่าสุดได้จัดทำคู่มือแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อแจกให้โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศแล้ว

เรื่องน่าสนใจ