ที่มา: มติชน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ประชากรวัยแรงงานทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า มีประชากรวัยแรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการทำงานมากกว่า 1,900 ล้านคนทั่วโลก โดยทุกๆ ปี จะมีแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่า 160 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 ของแรงงานทั้งหมดประสบปัญหาความเครียดจากการทำงาน

สอดคล้องกับข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า ในที่ 2557 มีจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด 47,780 คน เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 39,084 คน เพศชาย 17,262 คน เพศหญิง 21,814 คน ปัญหาลำดับแรกที่พบ คือ ปัญหาความเครียดหรือความวิตกกังวล จำนวนประมาณ 12,602 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.24 โดยวัยแรงงานช่วงอายุระหว่าง 26-30 ปี ขอรับคำปรึกษาด้านความเครียดหรือวิตกกังวลสูงสุด จำนวน 2,084 คน หรือ ร้อยละ 5.3 ซึ่งหากมองในด้านตัวเลขแล้วอาจจะดูว่ามีจำนวนไม่มากนัก

14303822561430382443l

 

แต่ความเครียดในช่วงวัยดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการปรับตัวเข้าสู่วัยแรงงาน นพ.เจษฎา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรวัยแรงงานที่โทรมาขอรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กว่า 9,389 คน หรือ ร้อยละ 24.02 มีปัญหาเป็นโรคทางจิตเวช

ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเครียดในการทำงาน เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อศักยภาพในการทำงาน คุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานของแรงงานและอาจส่งผลทำให้มีโรคทางจิตเวชตามมา แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องมีทักษะหรือวิธีการจัดการกับความเครียดให้กับตัวเองโดยเร็ว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การจัดการปัญหาความเครียดมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับแนวทางที่เหมาะสมที่เลือกจะนำมาใช้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การได้มีโอกาสบริหารจัดการความสมดุลในร่างกายกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยเรียกวิธีการนี้ว่า 4ส.1ม. ซึ่งประกอบด้วย สมดุล สมาธิ สื่อสาร สัตย์ซื่อ และมีเมตตา เพื่อส่งเสริมสร้างสุขกับมิตรร่วมงาน

เน้นการสร้างความสุขในที่ทำงานด้วยตนเอง เป็นแนวทางการทำงานแบบวิถีพุทธที่สามารถปรับใช้กับการทำงานในบริบทของสังคมไทยได้ง่าย และส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างความสุขในสังคมต่อไป

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ