สำนักข่าวจากญี่ปุ่นเล่าประสบการณ์ใช้บริการนั่งรถเมล์สาย 8 ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเร็ว อีกทั้งยังเป็นรถเมล์สายหนึ่งที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละปี อยากเห็นผู้ให้บริการรถสาย 8 ปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นเพื่อให้อยู่รอดต่อไป
เว็บไซต์ Nikei Asian Review เขียนบทความเล่าประสบการณ์ใช้บริการรถเมล์สาย 8 ที่ตามรายงานบอกไว้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนกันยายนมีการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับรถเมล์สาย 8 มาแล้วถึง 345 ครั้งจากผู้โดยสาร ตกแล้วเกือบทุกวันจะมีการร้องเรียนเรื่องรถเมล์สายนี้ เริ่มจากเรื่องมารยาทการขับรถ และการปฏิเสธรับ-ส่งผู้โดยสารในเวลาที่การจราจรคับคั่ง
แล้วรถเมล์สาย 8 เลวร้ายตรงไหน? ลองพิจารณาได้จากคำบรรยายเหตุการณ์ผจญภัยของผู้เขียนที่ได้ทดลองนั่งรถประจำทางที่แย่ที่สุดในประเทศ
การเดินทางเริ่มจากป้ายรถเมล์สะพานพระพุทธยอดฟ้า ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ รถออกวิ่งไปเรื่อยมุ่งหน้าขึ้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านย่านธุรกิจ ก่อนเลี้ยวมุ่งหน้าไปยังยางกะปิ รวมระยะทางแล้วประมาณ 30 กม.
ด้วยความที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ทำให้อุณหภูมิในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนสูงราวๆ 33 องศาเซลเซียส ภายในรถเมล์สายดังกล่าวเป็นแบบสมัยเก่า พื้นปูด้วยไม้ ติดพัดลมเพดานขนาดเล็ก และประตูที่เปิดตลอดแม้กระทั่งเวลาที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงก็ตาม
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะหน้าต่างของรถเปิดตลอด เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับอากาศดียามค่ำคืน และได้ชมบรรยากาศโดยรอบ กับราคาค่าโดยสาร 9 บาท แต่ก็ไม่ได้ดีมากเมื่อเทียบกับรถประจำทางในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจดี
เริ่มแรกมีผู้โดยสารบนรถเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งไม่ถึง 10 นาทีต่อมาทุกที่นั่งบนรถถูกผู้โดยสารจับจองแทบทั้งหมด ไม่มีเสียงตะโกนบอกป้าย อาจเป็นเพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ หลังจากนั้นประมาณ 1 ชม. พนักงานขับรถก็เริ่มทำในสิ่งที่น่ากลัว เมื่อเขาเริ่มขับรถปาดไปปาดมาในสภาพการจราจรที่หนาแน่น ทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการตัดเลนรถเพื่อเข้าจอดป้ายรับผู้โดยสาร
อันตรายก็จริงแต่ค่าตอบแทนดี
ระหว่างปี พ.ศ 2554 – 2556 มีอุบัติเหตุบนท้องถนน 29 ครั้ง กับผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บราว 100 คน ที่มีรถประจำทางเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหลายคนตำหนิว่าอุบัติเหตุที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากค่าตอบแทนที่พนักงานขับรถจะได้รับขึ้นอยู่กับเงินค่าโดยสารที่ได้ในแต่ละเที่ยว จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้คนขับรถเมล์ต้องใช้วิธีขับรถให้เร็วขึ้น, ตัดหน้ารถคันอื่นเพื่อแย่งผู้โดยสารให้รถคันตัวเองมีผู้โดยสารมากที่สุด และถึงแม้ว่ารถเมล์สาย 8 จะเป็นอันตราย แต่รก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางของประชาชน
ขณะที่ รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าวางแผนพัฒนาระบบเส้นทางขนส่งรถไฟฟ้าในเมืองรวมถึงการนำรถไฟและเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในเส้นทางใหม่ซึ่งจะเปิดใช้ในช่วงปีหน้า
แม้หลายคนจะพบความเลวร้ายของรถเมล์สาย8จากปัญหาคนขับ แต่รถเมล์สาย 8 ยังจะคงอยู่ติดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหยั่งลึก เป็นไปได้ไหมว่า รถเมล์สาย 8 จะยังอยู่รอดในธุรกิจ เช่นนี้ ขณะที่ ไทยกำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับผู้โดยสารได้ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน สิ่งสำคัญคือ ผู้ให้บริการรถเมล์สาย 8 ต้องกลับมาทบทวนว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะ เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ รถเมล์สาย 8 จะปรับคุณภาพการบริการอย่างไรให้อยู่รอด ?
ภาพจากทวิตเตอร์ : Jirasak Saebang