ที่มา: dodeden

กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลีส ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการสัมมนาสื่อมวลชนต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2560

โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การผลักดันประเทศไทย ก้าวเข้าสู่เมืองนวัตกรรมอาหารของภูมิภาค” ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล

มีสื่อมวลชน นักการทูต จากประเทศในเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งสิ้น 80 คน เข้าร่วมการสัมมนาและร่วมดูงานหน่วยงานและบริษัทที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทซีพีแรม บริษัทไทยเพรสซิเดนท์ฟู้ด จำกัด และพื้นที่ตั้งโครงการฯ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.อรรชกา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วยสนับสนุน ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนั้น ได้ผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับ 5 อุตสาหกรรมหลัก

ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4.กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองฝังตัว และ 5.กลุ่มเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

ดร.อรรชกา กล่าวว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจฐานชีวภาพได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จะเข้ามาช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดโลก

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นอย่างดี โดยขณะนี้ มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารไทยมีสัดส่วนถึง 10.5% ของ GDP คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของโลกและ 80% ของวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นในประเทศไทย นอกจากนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนาและพัฒนากำลังคนด้านอาหาร มีหน่วยบริการทดสอบอาหารที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแห่งชาติ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุดในภูมิภาคนี้

จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของประเทศในปี พ. ศ. 2558 คิดเป็น 0.62% ของ GDP หรือ ราว 2,446 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 70% มาจากภาคเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลยังสร้างแรงจูงใจในการลงทุนโดยมอบสิทธิประโยชน์

สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายผลิตภัณฑ์ที่มาจากการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อน 50% อีก 5 ปี เป็นต้น

“เป็นโอกาสที่ดีมากที่สื่อมวลชนจะได้ไปเยี่ยมชม บริษัทอาหารขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่มีการลงทุนในกิจการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม มั่นใจว่า หลังจากการสัมมนาครั้งนี้ สื่อมวลชนจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศไทยมีให้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและหวังว่า ทุกท่านจะช่วยประชาสัมพันธ์โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของประเทศไทยไปสู่ต่างประเทศ  ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารในภูมิภาคนี้” รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ