ม.ขอนแก่น ประสบความสำเร็จทำเสื้อเกราะกันกระสุน ประดิษฐ์จากรังไหมตัวแรกของโลก
วันนี้ (31ส.ค.58) ผศ.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนารังไหมใช้เป็นเกราะกันกระสุน ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ตำรวจ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ ได้รับอันตรายจำนวนมาก
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย และกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝากภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พัฒนารังไหมให้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุน โดยมีจุดเด่นคือเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนมีความยืดหยุ่น ป้องกันการยิงซ้ำ ต้านทานแรงกระแทก น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปกว่า 2.5 เท่า
ทั้งนี้ จากคุณสมบัติดังกล่าวพบว่าเส้นไหมมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเส้นใยเหล็ก ดังนั้นจึงนำรังไหมมาทำเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระสุนปืน เมื่อผลิตเสื้อเกราะจากรังไหมสำเร็จ ทีมนักวิจัยจึงนำมาทดสอบกับกระสุนจริง จากการทดสอบการยิง พบว่าการทดสอบช่วงแรกพบว่า สามารถสามารถป้องกันการยิงของปืนสั้น .22 ได้ในระยะการยิง 3 เมตร เป็นการป้องกันในระดับ 1 ตามมาตรฐานของ National Institute of Justice (NIJ)
นอกจากนี้ เสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนยังมีคุณสมบัติเด่น คือความยืดหยุ่นตัวสูงสามารถดูดหัวกระสุนไว้ในเกราะไม่ทำให้เกิดการแฉลบสู่บุคคลข้างเคียง สามารถต้านทางแรงกระแทกได้ดี ไม่ทำให้เกราะแตก ที่ทำให้เกิดการบอบช้ำภายในของร่างกายผู้สวมใส่จากการยุบตัวของเกราะตามแรงของกระสุน สามารถป้องกันการยิงซ้ำจากการคงรูปของเกราะที่ไม่ทำให้เกิดการเสียสภาพภายหลังการถูกยิง มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปราว 2.5 เท่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทีมผู้วิจัย ได้จดสิทธิบัตรเสื้อเกราะไหมกันกระสุนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาความหนาและน้ำหนักของเสื้อเกราะไหมกันกระสุนให้บางและเบาขึ้น ที่สามารถป้องกันกระสุนปืนในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (ป้องกันกระสุนปืน M 16 ความเร็ว 838 เมตรต่อวินาที)เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยแก่สังคมต่อไป