จากกรณีของ เต่าออมสิน อายุ 25 ปี ที่ทีมสัตวแพทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันผ่าตัดช่วยนำเหรียญเกือบ 1,00 เหรียญ ออกจากท้อง ซึ่งภายหลังการผ่าตัดนั้นเจ้าออมสินก็ดูเหมือนจะมีอาการดีขึ้น เริ่มว่ายน้ำได้ ก่อนที่อาการจะทรุดหนักลง มีอาการแทรกซ้อนจากการที่ลำไส้บิดรัดตัวกันเอง และมีแก๊สในท้องทำให้ต้องผ่าตัดซ้ำนั้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (21 มีนาคม 2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าออมสินได้ตายลงแล้ว ในเวลาประมาณ 10.10 น. โดยทางสัตวแพทย์ เชื่อว่าเกิดจากการที่มีค่าโลหะในร่างกายสูงเกินไป ทำให้ฟื้นตัวจากการผ่าตัดแก้ปมที่ลำไส้ได้ยาก
ด้าน รศ.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงยืนยันข่าวการตายของเต่าออมสิน โดยขอให้นำกรณีนี้เป็นบทเรียนสำคัญของสังคมโลก ขอปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการโยนเหรียญหรือสิ่งแปลกปลอมให้สัตว์กิน เพราะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตสัตว์
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแถลงข่าวนั้น รศ.สพ.ญ.นันทริกา ไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ และลุกไปร้องไห้
สำหรับการผ่าตัดเต่าออมสินรอบที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายหลังพบอาการแทรกซ้อนจากการนำเหรียญออกจากท้อง ที่ทำให้อวัยวะภายในผิดปกติ ซึ่งหลังการผ่าตัดอาการของเต่าออมสินดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาอาการของเต่าออมสินไม่ดีนัก เนื่องจากความพยายามฟื้นตัวของลำไส้ในช่องท้อง ซึ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้นก่อนการผ่าตัด ทำให้มีแก๊สเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปวดท้องและเสียโปรตีน
ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่า การตายของเต่าออมสินเกิดจากร่างกายอ่อนแอ และมีสารนิกเกิลที่เป็นสารเคลือบเหรียญในกระแสเลือดมากกว่าปกติถึง 200 เท่า ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำ และกระทบระบบกล้ามเนื้อและหัวใจ ทำให้เต่าออมสินมีอัตรารอดไม่เกินร้อยละ 50 โดยเต่าออมสินอยู่ในห้องไอซียูหลังการผ่าตัด ที่ทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดมาจะครบ 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน
ภาพจากไทยพีบีเอส