เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ภาพประกอบข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ , อิศรา
เรื่องราวของวัดพระธรรมกายยังคงมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นในทางไม่เห้นด้วยกับมหาเถรสมาคมจำนวนมาก
ล่าสุด ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอท รางานว่า “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” หรือ “ส.ศิวรักษ์” ปัญญาชนสยาม โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Sulak Sivaraksa ความเห็นต่อกรณีธมฺมชโย เมื่อวันที่ 21 ก.พ.58
การที่ มหาเถรสมาคมลงมติ ว่าธมฺมชโยไม่เป็นปราชิกนั้น แสดงว่ากรรมการมหาเถรสมาคมที่ลงคะแนนให้ธมฺมชโย น่าจะมีชนักติดหลังในทำนองเดียวกัน
ในเมื่อลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ต้องอทินนาทานปราชิก แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งอ้างว่าเคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติสมเด็จพระสังฆราช
โดยที่อ้างว่าเขาคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั่นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัยอย่างชัดเจน
แต่นี่ไม่ใช่คราวแรกที่มหาเถรสมาคมมีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นเมื่อคราวกิตฺติวุฒฺโฑภิกขุสั่งรถวอลโว่เข้ามาโดยไม่ยอมเสียภาษี นี่ก็เป็นอทินนาทานปราชิกเช่นเดียวกัน
เพราะพระมีค่าเพียงแค่เงินบาทเดียว ฉ้อฉลเพียงบาทเดียวก็ต้องอทินนาทานปราชิกหมดความเป็นภิกษุภาวะ คราวกิตฺติวุฒฺโฑ มหาเถรสมาคมก็ลงมติว่าเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ และให้เอาเงินไปเสียภาษี เพื่อจบเรื่อง
ดังกรณีธมฺมชโยก็เช่นกัน อ้างว่าได้คืนเงินคืนทองไปแล้ว ยังสามารถคงความเป็นลัชชีไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่างแห่งความอัปลักษณ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม
เมื่อถอดสมภารวัดสระเกศออกจากมหาเถรสมาคม และจากตำแหน่งต่าง ๆ อย่างน้อยแสดงว่ามหาเถรสมาคมมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่บ้าง แต่แล้วความกล้าหาญที่ว่านี้ก็ปลาสนาการไป
เพราะคณะพระธรรมกายมีเงินและอำนาจมากมายมหาศาล ที่จะซื้อกรรมการมหาเถรสมาคมได้แทบทั้งหมด ยังท่านผู้รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ปกป้องคณะพระธรรมกายมาโดยตลอด ถึงกับไปร่วมเดินกับคณะนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้
โดยอ้างว่านั่นเป็นธุดงควัตร แถมว่าที่สังฆราชยังออกว่า “เดินบนดอกไม้นุ่มดี ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน”
แล้วคนอย่างนี้จะปล่อยให้เป็นสังฆราชได้หรือ ถ้าได้เป็น การพระศาสนาจะทรุดโทรมไปยิ่งกว่านี้เหลือคณานับ
สิ่งซึ่งสังคมไทยต้องการในขณะนี้คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทรงไว้ซึ่งศีลาจารวัตร ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่เนื้อหาสาระ
ยกตัวอย่างเช่น มีคนต้องการเอารถยนต์ไปถวายวัดหนองป่าพง ท่านอาจารย์ชา สุภทฺโท เรียกประชุมสงฆ์ว่าสมควรจะรับยานพาหนะดังกล่าวหรือไม่ สงฆ์ส่วนใหญ่เห็นว่าการมีรถยนต์จะช่วยให้พระภิกษุสามเณรสะดวกในการเดินทางไปไหนมาไหน
ครั้นท่านอาจารย์ชาถามสังฆบริษัทว่าไม่อายชาวบ้านหรือ เพราะชาวบ้านรอบ ๆ วัด บางคนไม่มีแม้แต่เกวียน แต่เขาก็ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระให้มีความผาสุกตลอดมา แล้วพระไปนั่งรถยนต์เชิดหน้าชูตา จะเอาหน้าไปไว้ไหน สงฆ์ทั้งหมดจึงลงมติไม่รับรถยนต์ที่ทายกต้องการจะถวาย
ขอให้เปรียบเทียบกับกรณีเณรคำ ซึ่งซื้อรถแพง ๆ ถวายพระสังฆาธิการในคณะธรรมยุติหลายต่อหลายรูป อันเป็นการติดสินบนนั่นเอง
หากพระมหาเถระเหล่านั้นพากันพูดว่า “นี่เป็นของถวาย ไม่รับก็จะขัดศรัทธาเขา” พระสังฆาธิการเป็นอันมาก มีรถยนต์แพง ๆ กุฏิอันหรูหราฟ่าแฟ่ ติดแอร์ มีเครื่องรับโทรทัศน์ติดดาวเทียม ซึ่งจะดูหนังลามกอย่างไรก็ได้
แล้วนี่ไม่นำความหายนะมาสู่คณะสงฆ์หรอกหรือ
ชีวิตพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐ ต้องต่างไปจากชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นกามโภคี พระภิกษุสามเณรต้องเจริญเนกขัมมปฏิปทา แม่นทั้งทางศีลสิกขาและเจริญจิตสิกขา
เพื่ออบรมตัวเองให้เข้าถึงปัญญา จะได้แลเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่แท้ ถ้าไตรสิกขาเป็นเพียงคำพูด โดยไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่เนื้อหาสาระ
พระศาสนาก็ย่อมจะสั่นคลอนและอาจถึงซึ่งความอับปางก็ได้ ภายในชั่วอายุของกรรมการมหาเถรสมาคมในบัดนี้นี่เอง