หนุ่มใหญ่เมืองคอนผงะ พบปลาประหลาด มีหูแผ่แม่เบี้ยเหมือนงูเห่า เผยทำอาชีพหาปลามา 30 ปี ไม่เคยพบเห็น ด้านผู้สื่อข่าวตรวจสอบเบื้องต้น คาดเป็นปลาสะแงะ พันธุ์ปลาหายาก และมีราคาแพง

 11.jpg

 

เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 16 พ.ย. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับโทรศัพท์จาก นายบรรจบ แสนคำนึง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/4 หมู 3 ต.นาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ว่า ได้ไปกู้ไซดักปลาและสัตว์น้ำในคลองชลประทาน ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร และพบว่าไซที่กู้ขึ้นมาติดปลา 2 ตัว ตัวหนึ่งคือปลากระทิง แต่อีกตัวหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นปลาชนิดใด ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน

หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบ โดยพบว่าบ้าน นายบรรจบ ตั้งอยู่กลางทุ่งริมคลองชลประทาน โดยได้นำปลาประหลาดตัวดังกล่าวไปใส่ไว้ในกะละมังใบใหญ่ ซึ่งมองดูลักษณะทั่วไปคล้ายปลาไหล ความยาววัดได้ 67 ซม. ขนาดเท่าขวดเครื่องดื่มชูกำลัง หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม

ส่วนหัวเป็นรูปกรวย ด้านบนราบแบน และแผ่ลำคอและหัวคล้ายงูเห่าแผ่แม่เบี้ย ตาเล็ก ปากกว้าง ริมฝีปากหนา มีจมูกเป็นท่อเล็กสั้นๆ 2 ท่อคล้ายหนวด ฟันเล็กละเอียด และแหลมคม เพดานปากแคบ ครีบคล้ายใบหูกว้างกลมมน

โดยครึ่งลำตัวเหมือนปลาไหล แต่ครึ่งลำตัวหลังจนไปถึงมีครีบหลัง หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่าไม่ใช่ปลาลื่น ไม่มีกลิ่นเหมือนปลาไหล แต่เป็นปลาหรือสัตว์น้ำที่มีเกล็ดเล็กๆ ฝังใต้ผิวหนังตลอดลำตัว ลำตัวมีสีเหลืองอร่าม คล้ายลายหินอ่อน ท้องมีสีจาง ครีบสีคล้ำดำ

นายบรรจบ เล่าว่า ตลอดชีวิต ตนประกอบอาชีพประมงน้ำจืด จำหน่ายเลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 30 ปี โดยตนมั่นใจว่า พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดตนจะรู้จักทุกชนิด แต่สำหรับปลาหรือสัตว์น้ำตัวนี้ตนไม่รู้จัก ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนจริงๆ

จากการสังเกต พบว่าที่ส่วนหัวและลำคอเหมือนงูจงอางหรืองูเห่าแผ่แม่เบี้ย ทำให้ตนไม่กล้าจับ เกรงว่าเจ้าปลาประหลาดตัวนี้จะกัด ซึ่งอาจจะมีพิษถึงตายได้ และคงไม่กล้านำไปขาย จึงขอยกปลาประหลาดตัวนี้ให้กับสื่อมวลชนนำไปสอบถามนักวิชาการประมงว่าเป็นปลาหรือสัตว์น้ำอะไรกันแน่ โดยหากทราบแล้วขอให้โทรศัพท์แจ้งให้ตนทราบด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสืบค้นในเว็บไซต์ “วิกิพีเดีย” สารานุกรมเสรี จนพบว่าเจ้าปลาประหลาดดังกล่าว คือ “ปลาสะแงะ” หรือที่เรียกกันว่าปลาไหลมีหู, ปลาไหลหูดำ, ปลาไหลทะเล เป็นต้น ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในภาคใต้เรียกว่า “ปลาตูหนา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Anguilla bicolor) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตูหนา (Anguilidae) ขนาดโตเต็มที่ยาวถึง 1.5 เมตร เป็นปลากินเนื้อและนับเป็นปลาหายากชนิดหนึ่ง

สำหรับวงจรชีวิตของปลาตูหนาออกจะน่าทึ่ง เป็นปลาสองน้ำ เพราะเจริญเติบโตในน้ำจืด แต่เมื่อถึงคราวจะสืบพันธุ์ออกลูกหลานกลับต้องดั้นด้นว่ายไปวางไข่ในแถบปากอ่าวหรือป่าชายเลนที่น้ำเค็มท่วมถึง เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ก็จะว่ายกลับมาอาศัยและเจริญเติบโตในน้ำจืด ลูกปลาตูหนาจึงเหลือรอดชีวิตกลับมาเจริญเติบโตเป็นอาหารของมนุษย์จึงมีไม่มากนัก กลายเป็นของหายากและมีราคาแพง

โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่นปลาชนิดนี้มีราคาแพงมาก คนรวยเท่านั้นจึงจะเสาะแสวงหามาบริโภคได้ ในภาคใต้พบมากใน จ.ตรัง โดยเฉพาะคลองปะเหลียน ซึ่งมีการจับจำหน่ายให้ร้านอาหารนำมาประกอบอาหารใน จ.ตรัง มาจำหน่ายอย่างกว้างขวาง

 

ที่มา http://www.thairath.co.th/content/463685

เรื่องน่าสนใจ