ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้หารือร่วมกันเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์ ขึ้นเพื่อใช้ในปี 2559
คือ 1. ยืนยันการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในผู้ติดเชื้อฯ ทุกคนโดยไม่สนระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) เพราะพบว่าการให้ยาต้านไวรัสฯทันทีที่พบว่าติดเชื้อจะช่วยลดภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลดการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง ลดการเกิดวัณโรค ลดการแพร่เชื้อไปยังคู่นอน
2. การปรับปริมาณการให้ยาต้านไวรัสจาก 300 มิลลิกรัม มาเป็น 200 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับคนไทย โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคลดลง แต่ในทางกลับกันยังช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลงได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐ
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ศ.นพ.เกียรติกล่าวอีกว่า 3.พิจารณาเพิ่มยาต้านไวรัสใหม่
4.เมื่อรักษาตัวเกิน 1 ปีและควบคุมโรคได้แล้วจะให้ตรวจหาเฉพาะCD4 ไม่ต้องตรวจหาปริมาณเชื้อ ทั้งนี้ แนวทางเรื่องการให้ยาต้านไวรัสฯ ทันทีนั้นประเทศไทยเริ่มดำเนินการมาได้สักระยะแล้ว แต่กำลังจะออกเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2559 นี้
ศ.นพ.เกียรติกล่าวต่อว่า ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยประกาศว่าภายในปี 2573 จะหยุดการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติการจะหยุดการติดเชื้อให้เป็นศูนย์คงทำไม่ได้จริง ยกเว้นการติดจากแม่สู่ลูก ดังนั้นประเทศไทยจึงตั้งเป้าว่าจะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากปีละประมาณ 8,000 คน ให้เหลือ 1,000 คนให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชายที่มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ตรงนี้ต้องรณรงค์ให้มีการตรวจรักษาเร็ว อย่างไรก็ตามต้องมีการรณรงค์ให้คนทุกกลุ่มหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้มีการป้องกัน ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น หรือคนรักที่ไว้ใจมากๆ ก็ต้องมาตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต รณรงค์ให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเหมือนกับการตรวจโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว
“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 5 แสนคน เข้ามารับการตรวจและรับยาต้านไวรัสประมาณ 3 แสนคน แต่ อีก 2 แสนคนยังไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา ในจำนวนนี้ถ้าเพียงครึ่งหนึ่งไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันก็เท่ากับเพิ่มคนที่จะติดเชื้อขึ้นอีก 1 แสนคน ดังนั้นไม่ว่าจะไปมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ตาม แม้แต่คนที่รักมาก แต่ถ้าไม่ได้ป้องกันก็ต้องไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือมีคนออกมาตรวจรักษาโรคน้อยอยู่เพราะมีปัญหาเรื่องการตีตรา ล่าสุดตอนนี้มีความพยายามทำระบบให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าไปตรวจและรับยาต้านได้ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งผ่านฐานข้อมูลจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน 9 ตัวแรก เพราะบางคนอาจจะอาย อาจจะกลัวคนรู้จักไปเจอถ้าเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน” ศ.นพ.เกียรติกล่าว