ที่มา: voicetv

เรียบเรียงโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพจาก voicetv

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาและโฆษก อย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทั่วทุกภาคของประเทศอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ประกอบกับกำลังย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม กลายเป็น ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภค เพื่อช่วยดับกระหายและคลายร้อน

 แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการเฝ้าระวัง ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

เพราะ หากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว

ซึ่ง เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และมักพบบ่อยในหน้าร้อน ได้แก่ เชื้อซัลโมเนลล่า วิบริโอ อี.โคไล และ สแตฟฟิโลคอคคัสออเรียส เป็นต้น

อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง อย. มีความห่วงใยอย่างยิ่ง จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษ

โดยการเลือกซื้อน้ำดื่ม ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ ส่วนน้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง

ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้”ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงินส่วนน้ำแข็งหลอดที่ให้บริการภายในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไป ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่ เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็ง

ซึ่งต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น โดยก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกต ด้วยตาเปล่าต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซอง ควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน โดย นำมาล้างน้ำก่อนทุบหรือบดแล้วนำใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด

สำหรับไอศกรีม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีก ขาด สังเกตได้จากการที่ไม่มีไอศกรีมรั่วซึมออกมา

ส่วนไอศกรีมประเภทตักขาย ตัวไอศกรีมต้องไม่มีสี กลิ่น รส ที่ผิดปกติ และไม่เหลวหรือมีลักษณะเหมือนเคยละลายมาแล้ว

รวมทั้งผู้บริโภคต้องดูสุขลักษณะของผู้ขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เล็บมือ การแต่งกาย ภาชนะที่ใช้ใส่ไอศกรีมก็ต้องสะอาดด้วย

8z

ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคป้องกันตนเองและเพิ่มความปลอดภัยในการบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็ง และ ไอศกรีม ในช่วงหน้าร้อน โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน

 เช่น ชื่ออาหาร และชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้ง ของผู้ผลิต

ทั้งนี้ หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตาม กฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้ มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application

หรือสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกับ อย.ในการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ

เรื่องน่าสนใจ